เกษตรฯ ส่ง 5 โครงการเร่งฟื้นฟู เยียวยา เกษตรกรผู้ประสบภัยฝนทิ้งช่วงและอุทกภัยปี 2562

0
2122

กระทรวงเกษตรฯ บูรณาการหน่วยงานเร่งปฏิบัติการฟื้นฟู เยียวยา เกษตรกรผู้ประสบภัยฝนทิ้งช่วงและอุทกภัยปี 2562 เสนอ 5 โครงการเป็นทางเลือกให้เกษตรกรที่พื้นที่ได้รับผลกระทบและเสียหายสิ้นเชิง หวังช่วยบรรเทาความเดือดร้อนและสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร เริ่มรับสมัครตั้งแต่25 ต.ค. – 10 พ.ย. 2562 นี้

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ภัยแล้งและอุทกภัยของพายุโพดุลและคาจิกิที่เกิดขึ้นในพื้นที่ภาคเหนือและภาคอีสาน

ส่งผลให้พื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหายและเกษตรกรได้รับความเดือดร้อนนั้น คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2562 อนุมัติให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการฟื้นฟู เยียวยา เกษตรกรผู้ประสบภัยฝนทิ้งช่วงและอุทกภัยปี 2562 จำนวน 5 โครงการ ภายในกรอบวงเงินกว่า 3,120 ล้านบาท ประกอบด้วย

1. โครงการส่งเสริมการปลูกพืชใช้น้ำน้อยเพื่อสร้างรายได้แก่เกษตรกร (ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์, ถั่วเขียว)

2. โครงการรักษาระดับปริมาณและคุณภาพข้าวปี 2563/64

3.โครงการพัฒนาเสริมทางเลือกอาชีพด้านประมง : การเลี้ยงปลานิลแปลงเพศในบ่อดิน

4. โครงการสร้างรายได้จากอาชีพประมงในแหล่งน้ำชุมชน

5. โครงการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ปีก เพื่อฟื้นฟูเกษตรกรที่ประสบปัญหาอุทกภัย

โดยเริ่มเปิดรับสมัครเกษตรกรเข้าร่วมโครงการได้ตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคม – 10 พฤศจิกายน 2562 ระยะเวลาดำเนินโครงการตุลาคม 2562 – 30 กันยายน 2563

.

หลักการให้ความช่วยเหลือต้องเป็นเกษตรกรผู้ประสบภัยฝนทิ้งช่วง/ฝนแล้ง หรืออุทกภัย ปี 2562 ที่ได้รับความเสียหายสิ้นเชิงและได้รับการช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ได้บูรณาการการทำงานของ 4 หน่วยงานในพื้นที่ร่วมกัน ได้แก่ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมการข้าว กรมประมง และกรมปศุสัตว์ ในแต่ละโครงการจะมีเจ้าภาพรับผิดชอบหลัก โดยเกษตรกรที่สนใจสามารถเลือกและสมัครเข้าร่วมโครงการได้เพียง 1 โครงการ จากทั้งหมด 5 โครงการ ข้อกำหนดเบื้องต้น คือ พื้นที่ต้องมีเอกสารสิทธิ์ สำหรับเกษตรกรที่สนใจปลูกพืชใช้น้ำน้อยพื้นที่ต้องมีความเหมาะสม มีแหล่งน้ำเพียงพอในการเพาะปลูก หากสนใจเลี้ยงปลาควรจะมีบ่อดิน หรือเลี้ยงสัตว์ปีกอาจจะต้องมีโรงเรือนสำหรับสัตว์ปีกด้วย

โดยแต่ละโครงการจะมีเป้าหมายและหลักเกณฑ์ ดังนี้

1. โครงการส่งเสริมการปลูกพืชใช้น้ำน้อยเพื่อสร้างรายได้แก่เกษตรกร (ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์, ถั่วเขียว) หน่วยงานรับผิดชอบ คือ กรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรที่ประสบภัยให้สามารถกลับมาเพาะปลูกพืชสร้างรายได้ในฤดูแล้ง โดยสนับสนุนค่าใช้จ่ายเป็นเงินสดโอนเข้าบัญชี ธ.ก.ส.ของเกษตรกรเพื่อซื้อเมล็ดพันธุ์ รายละไม่เกิน 20 ไร่ เป้าหมายเกษตรกร 150,000 ครัวเรือน พื้นที่ 1.4 ล้านไร่ แบ่งเป็น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 100,000 ครัวเรือน พื้นที่ 1 ล้านไร่ อัตราไร่ละ 245 บาท ถั่วเขียว 50,000 ครัวเรือน พื้นที่ 0.4 ล้านไร่ อัตราไร่ละ 200 บาท เกษตรกรเข้าร่วมโครงการตามความสมัครใจ 1 ครัวเรือน ต่อ 1 สิทธิ์ และเป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมส่งเสริมการเกษตร เกษตรกรที่สนใจเข้าร่วมโครงการ สามารถเลือกเข้าร่วมได้เพียง 1 โครงการ จาก 5 โครงการท

2. โครงการรักษาระดับปริมาณและคุณภาพข้าวปี 2563/64 หน่วยงานรับผิดชอบ คือ กรมการข้าว เป้าหมายเกษตรกร จำนวน 827,000 ครัวเรือน เมล็ดพันธุ์ข้าว 63,200 ดัน พื้นที่ 6.32 ล้านไร่ โดยสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ข้าวแก่เกษตรกรไร่ละ 10 กิโลกรัม ครัวเรือนละไม่เกิน 10 ไร่ ชนิดพันธุ์ข้าว 5 ชนิด ประกอบด้วย 1. ข้าวหอมมะลิ (พันธุ์ กข15, ขาวดอกมะลิ 105) 2. ข้าวหอมปทุม (พันธุ์ปทุมธานี1) 3. ข้าวเจ้าไม่ไวแสง (พันธุ์ กข29, กข31, กข41, กข49, กข57, ชัยนาท 1, พิษณุโลก 2) 4. ข้าวเหนียวไม่ไวแสง (พันธุ์สันป่าตอง 1) 5. ข้าวเหนียวไวแสง (พันธุ์ กข6) ทั้งนี้ จะจัดส่งเมล็ดพันธุ์ข้าวกลุ่มไม่ไวแสงช่วงเดือนกลางเดือน พ.ย.-กลางเดือน ธ.ค.2562 สำหรับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวกลุ่มข้าวไวแสงจะจัดส่งช่วงเดือน มี.ค.- เม.ย.2563

3. โครงการพัฒนาเสริมทางเลือกอาชีพด้านประมง : การเลี้ยงปลานิลแปลงเพศในบ่อดินหน่วยงานรับผิดชอบ คือ กรมประมง เป้าหมายเกษตรกรจำนวน 50,000 ราย โดยสนับสนุนพันธุ์ปลาและอาหารสัตว์น้ำให้แก่เกษตรกร (ได้รับพันธุ์ปลานิลแปลงเพศ จำนวน 800 ตัว/ราย พร้อมอาหารสัตว์น้ำนำร่องจำนวน 120 กิโลกรัม/ราย ซึ่งการเลี้ยงปลานิลแปลงเพศในบ่อดิน เป็นทางเลือกหนึ่งที่สามารถทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น หรือลดรายจ่ายในครัวเรือน โดยพันธุ์ปลานิลแปลงเพศที่สนับสนุนจะมีขนาดใหญ่ใช้ระยะเวลาการเลี้ยงสั้น

4. โครงการสร้างรายได้จากอาชีพประมงในแหล่งน้ำชุมชน หน่วยงานรับผิดชอบ คือ กรมประมง มีเป้าหมายแหล่งน้ำในชุมชนจำนวน 1,436แห่ง โดยปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ (กุ้งก้ามกราม) ในแหล่งน้ำชุมชนขนาดกลางหรือขนาดเล็ก ซึ่งเป็นแหล่งน้ำแบบปิดโดยสนับสนุนลูกพันธุ์กุ้งก้ามกรามขนาดตั้งแต่ 5-7 เซนติเมตรขึ้นไป จำนวน 200,000 ตัวต่อแหล่งน้ำ ทั้งนี้ การเลี้ยงกุ้งก้ามกรามซึ่งเป็นสัตว์น้ำที่มีศักยภาพในการให้ผลตอบแทนที่รวดเร็วและเป็นอาชีพเสริมที่ให้ผลตอบแทนสูง

5. โครงการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ปีก เพื่อฟื้นฟูเกษตรกรที่ประสบปัญหาอุทกภัย หน่วยงานรับผิดชอบ คือกรมปศุสัตว์ เป้าหมายเกษตรกร 48,000 ครัวเรือน ในพื้นที่ 17 จังหวัด โดยสนับสนุนเป็นเงินโอนเข้าบัญชี ธ.ก.ส.ของเกษตรกรเพื่อซื้อพันธุ์ไก่ไข่ เป็ดไข่ ครัวเรือนละ 10 ตัว ไก่พื้นเมืองคละเพศ อายุ 1 เดือนครัวเรือนละ 30 ตัว พร้อมค่าอาหารและค่าวัสดุในการเลี้ยง

.

สำหรับเกษตรกรที่มีพื้นที่ได้รับผลกระทบและเสียหายสิ้นเชิงจากสถานการณ์ฝนทิ้งช่วงและอุทกภัยปี 2562 สามารถสมัครเข้าร่วมโครงการและสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานเกษตรจังหวัดและสำนักงานเกษตรอำเภอในพื้นที่

โครงการส่งเสริมการปลูกพืชใช้น้ำน้อยเพื่อสร้างรายได้แก่เกษตรกร (ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์,ถั่วเขียว)
🔘รับสมัคร
25 ตุลาคม – 10 พฤศจิกายน 2562 ที่สำนักงานเกษตรอำเภอ
🔘 หลักการ
ช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรที่ประสบภัยให้สามารถกลับมาเพาะปลูกพืชสร้างรายได้ในฤดูแล้งโดยสนับสนุนค่าใช้จ่ายเป็นเงินสดโอนเข้าบัญชีเกษตรกรโดยตรงในการปลูกพืชใช้น้ำน้อย คือข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และถั่วเขียวในพื้นที่ที่เหมาะสม
🔘 เป้าหมาย
เกษตรกร 150
,000 ครัวเรือน พื้นที่ 1.4 ล้านไร่ แบ่งเป็น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 100,000 ครัวเรือน พื้นที่ 1.0 ล้านไร่ และ ถั่วเขียว 50,000 ครัวเรือน พื้นที่ 0.4 ล้านไร่
🔘 หลักเกณฑ์
1. เกษตรกรที่ประสบภัยเสียหายสิ้นเชิง
2. ช่วยเหลือไม่เกิน 20ไร่ของพื้นที่เสียหาย และเป็นพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิ์
3. อัตราช่วยเหลือเมล็ดพันธุ์ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 245 บาท/ไร่ และถั่วเขียว 200 บาท/ไร่
🔘 คุณสมบัติ
ร่วมโครงการตามความสมัครใจ
1. เกษตรกรต้องมีสัญชาติไทยและบรรลุนิติภาวะ
2. เป็นหัวหน้าครัวเรือนหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย
(1 ครัวเรือน ต่อ 1สิทธิ์ ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร
3. เป็นเกษตรกรผู้ประสบภัยฝนทิ้งช่วงฝนแล้ง หรืออุทกภัย ปี 25622
4. เปิดบัญชีเงินฝากกับ ธ.ก.ส.

.


โครงการอื่นๆ ได้แก่
1. โครงการรักษาระดับปริมาณและคุณภาพข้าว ปีการผลิต 2563/64 – รับผิดชอบโดย กรมการข้าว
2. โครงการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ปีก เพื่อฟื้นฟูเกษตรกรที่ประสบปัญหาอุทกภัย – รับผิดชอบโดย กรมปศุสัตว์
3. โครงการพัฒนาเสริมทางเลือกอาชีพด้านประมง : การเลี้ยงปลานิลแปลงเพศในบ่อดิน – รับผิดชอบโดย กรมประมง
4. โครงการสร้างรายได้จากอาชีพประมงในแหล่งน้ำชุมชน – รับผิดชอบโดย กรมประมง

หมายเหตุ : เกษตรกรที่สนใจเข้าร่วมโครงการ สามารถเลือกเข้าร่วมได้เพียง 1 โครงการ จาก 5 โครงการทั้งหมด

 

#AllnewsExpress