นายสัตวแพทย์ชัยวัฒน์ โยธคล เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า มกอช. ได้มอบหมายให้ผู้แทนกองนโยบายมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร (กนม.) เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการเชิงกลยุทธ์ความร่วมมือด้านอาหาร เกษตร และป่าไม้ของอาเซียน (FAF) ปี 2026–2030 ครั้งที่ 3 ซึ่งสำนักงานเลขาธิการอาเซียนร่วมกับกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมงญี่ปุ่น จัดขึ้น ณ เมืองญาจาง ประเทศเวียดนาม การประชุมดังกล่าวมีผู้แทนจาก 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน ติมอร์-เลสเต สำนักงานเลขาธิการอาเซียน ตลอดจนหน่วยงานความร่วมมือระดับภูมิภาค เช่น ERIA, JIRCAS, GIZ และผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขาเข้าร่วม เพื่อร่วมกันกำหนดทิศทางการดำเนินงานตามกรอบยุทธศาสตร์ใหม่ที่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน
มกอช. ในฐานะหน่วยงานผู้ประสานหลักด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (SPS) ของไทย ได้ผลักดันนโยบาย SPS ที่เน้นการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้า อาทิ ระบบใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ ระบบเตือนภัยความปลอดภัยด้านอาหารของอาเซียน (ARASFF) และระบบตรวจสอบย้อนกลับ โดยได้บรรจุประเด็นเหล่านี้ไว้ใน “เสาหลักเชิงยุทธศาสตร์ด้านการตลาดและการอำนวยความสะดวกทางการค้า” ซึ่งสอดคล้องกับบท SPS ภายใต้ความตกลง ATIGA ฉบับปรับปรุงใหม่ รวมทั้งยังได้มีการหารือแนวทางความปลอดภัยในสินค้าเกษตรตลอดห่วงโซ่การผลิต เพื่อยกระดับมาตรฐานของภูมิภาคให้สอดคล้องกับบริบทโลก
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของประเทศสมาชิกเกี่ยวกับแนวทางการฟื้นฟู การลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) และความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมในระดับภูมิภาค โดยมีโครงการที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ฉบับใหม่ อาทิ โครงการลด GHG ในนาข้าวภายใต้ความร่วมมือ ASEAN-Japan MIDORI โดยร่างกรอบยุทธศาสตร์ FAF ปี 2026–2030 จะถูกเสนอขอความเห็นชอบจากที่ประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเกษตรและป่าไม้ (SOM-AMAF) ในเดือนสิงหาคมนี้ ก่อนเสนอให้ที่ประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านการเกษตรรับรองอย่างเป็นทางการ
“สำหรับกรอบความร่วมมือด้านอาหาร เกษตร และป่าไม้ของอาเซียน มุ่งสู่ปี 2045 กำหนดเป้าประสงค์หลัก 8 ข้อ ได้แก่ 1.ส่งเสริมการเกษตรแบบยั่งยืนและฟื้นฟู 2.สร้างความมั่นคงทางอาหารที่ปลอดภัยและมีคุณค่าทางโภชนาการ 3.ขับเคลื่อนนวัตกรรมและการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิทัล 4.รับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 5.อนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ 6.ยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรและลดความยากจน 7.บูรณาการการค้าในภูมิภาค และ 8.แก้ไขปัญหาเกษตรกรสูงวัย” เลขาธิการ มกอช. กล่าว