รมว.เกษตรฯ ลงพื้นที่สุโขทัย สั่งชลประทานเร่งคุมน้ำยม

0
71873

วานนี้ (26 กรกฎาคม 2568) นายอรรถกร ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมคณะ ได้ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำในจังหวัดสุโขทัยอย่างใกล้ชิด โดยมี นายสุริยพล นุชอนงค์ อธิบดีกรมชลประทาน นายเดช เล็กวิชัย รองอธิบดีกรมชลประทาน นายทวีวัฒน์ สืบสุขมั่นสกุล ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 4 และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และรายงานสถานการณ์น้ำ ณ ประตูระบายน้ำบ้านหาดสะพานจันทร์ ต.ป่ากุมเกาะ อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย ก่อนจะเดินทางไปติดตามสถานการณ์น้ำบริเวณ ประตูระบายน้ำคลองหกบาท อ.สวรรคโลก และจุดก่อสร้างรางรถไฟ (คลองยม-น่าน) อ.ศรีนคร และประตูระบายน้ำ กม.22 ปากพระ อ.เมืองสุโขทัย

ปัจจุบันสถานการณ์น้ำในพื้นที่จังหวัดสุโขทัย อยู่ในช่วงเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำหลากอย่างใกล้ชิด เนื่องจากในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีฝนหนักในพื้นที่ลุ่มน้ำยมตอนบนอย่างต่อเนื่อง ทำให้น้ำไหลหลากลงสู่ลำน้ำอย่างรวดเร็ว โดยที่สถานีวัดน้ำ Y.14B อ.ศรีสัชนาลัย เมื่อเวลา 10.00 น. มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,072 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ส่วนที่ตัวเมืองสุโขทัย เช้าวันนี้ จุดกั้นกระสอบทรายบริเวณช่องบันไดหลังวัดคูหาสุวรรณ ฝั่งขวาของแม่น้ำยมได้พังทะลาย ทำให้น้ำไหลเข้าเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชน โดยเฉพาะที่บริเวณชุมชนวัดคูหาสุวรรณและชุมชนพระแม่ย่า ทางเทศบาลเมืองสุโขทัยธานีได้เร่งนำบิ๊กแบ็คเข้าปิดกั้นและสูบน้ำกลับลงแม่น้ำยมต่อไป

ในส่วนของกรมชลประทานได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำรวม 9 เครื่อง ใน 3 จุดสำคัญ ได้แก่ ต.ธานี ต.บ้านกล้วย และ ต.ปากแคว เพื่อเร่งระบายน้ำออกจากเขตเมืองให้เร็วที่สุด

ขณะเดียวกัน บริเวณประตูระบายน้ำบ้านหาดสะพานจันทร์ อ.สวรรคโลก ได้มีการหน่วงน้ำไว้ทางตอนเหนือของประตู พร้อมระบายผ่านคลองหกบาท คลองยมน่าน แม่น้ำยมสายเก่า และแม่น้ำน่าน เพื่อชะลอยอดน้ำก่อนเข้าสู่เขตเมือง รวมทั้งควบคุมการระบายน้ำผ่าน ปตร.บ้านหาดสะพานจันทร์ ลงสู่แม่น้ำยมสายหลักอย่างระมัดระวัง เพื่อลดผลกระทบให้ได้มากที่สุด

นอกจากนี้ ยังได้ร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่นและประชาชนในพื้นที่ เร่งเสริมแนวกระสอบทรายริมตลิ่งแม่น้ำยม พร้อมนำเครื่องจักรเข้ากำจัดวัชพืชและสิ่งกีดขวางทางน้ำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำ

ในการนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กำชับให้ทุกหน่วยงาน ทั้งระดับส่วนกลางและท้องถิ่น บูรณาการความร่วมมือในการช่วยเหลือประชาชนอย่างใกล้ชิด โดยเน้นให้กรมชลประทานบริหารจัดการน้ำอย่างเข้มงวด ควบคุมสถานการณ์จนกว่าจะคลี่คลาย พร้อมเร่งลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชนให้มากที่สุด