ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) กรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากอิทธิพลของพายุ “วิภา” ส่งผลให้เกิดฝนตกหนักในหลายพื้นที่ของประเทศ โดยเฉพาะในภาคเหนือ ทำให้มีปริมาณน้ำไหลลงสู่แม่น้ำสายหลักเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
🚨สถานการณ์ลุ่มน้ำน่าน
ที่สถานีวัดน้ำ N.1 สำนักงานป่าไม้ฯ อ.เมืองน่าน และสถานีวัดน้ำ N.13A บ้านบุญนาค อ.เวียงสา จ.น่าน ปริมาณน้ำมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากมีปริมาณน้ำทางตอนบนไหลมาสมทบ โดยปริมาณทั้งหมดจะไหลลงสู่เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ ในระยะต่อไป ซึ่งปัจจุบันมีปริมาณน้ำในอ่างฯ จำนวน 6,123 ล้าน ลบ.ม. (64% ของความจุอ่างฯ) และยังสามารถรับน้ำได้อีก 3,387 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนสิริกิติ์ได้ปรับแผนลดการระบายน้ำเหลือวันละ 10 ล้าน ลบ.ม. เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบด้านท้ายน้ำ
🚨สถานการณ์ลุ่มน้ำยม
ปัจจุบัน (24 ก.ค. 68 เวลา 18.00 น.) ที่สถานีวัดน้ำยม Y.20 อ.สอง จ.แพร่ มีปริมาณน้ำไหลผ่านในอัตรา 1,047 ลบ.ม./วินาที แนวโน้มเริ่มลดลง โดยปริมาณน้ำจะไหลลงสู่พื้นที่ตอนล่าง ที่สถานีวัดน้ำ Y.1C อ.เมืองแพร่ จ.แพร่ มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,271 ลบ.ม./วินาที สูงกว่าตลิ่ง 1.27 ม. มีแนวโนมเพิ่มสูงขึ้น กรมชลประทานได้ประเมินสถานการณ์น้ำพบว่าที่สถานีวัดน้ำ Y.1C คาดว่าระดับน้ำจะสูงถึง 10.40 – 10.60 ม.รสม. ในช่วงเช้าวันพรุ่งนี้ (25 ก.ค. 68) จากนั้นมวลน้ำดังกล่าวจะไหลต่อไปยังสถานีวัดน้ำ Y.37 อ.วังชิ้น จ.แพร่ และรวมกับน้ำจากลำน้ำสาขาไหลลงสู่พื้นที่ อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย ต่อไป
🚨สถานการณ์แม่น้ำเจ้าพระยา
มวลน้ำจากภาคเหนือได้ไหลลงมาสู่แม่น้ำเจ้าพระยา จ.นครสวรรค์ เพิ่มมากขึ้น คาดการณ์ว่าในช่วง 1 – 7 วันข้างหน้า สถานีวัดน้ำ C.2 อำเภอเมืองนครสวรรค์ จ.นครสวรรค์ จะมีปริมาณน้ำไหลผ่านในอัตรา 1,500 – 1,700 ลบ.ม./วินาที ส่งผลต่อเนื่องให้ระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยายกตัวสูงขึ้น เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำสอดคล้องกับปริมาณน้ำทางตอนบนและฝนที่ตกในระยะนี้ กรมชลประทานเตรียมทยอยปรับเพิ่มการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท ในอัตรา 1,200 – 1,500 ลบ.ม./วินาที ซึ่งจะส่งผลให้ระดับน้ำด้านท้ายเขื่อนเพิ่มสูงขึ้นบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ ได้แก่ คลองโผงเผง จ.อ่างทอง คลองบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา ต.หัวเวียง อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา ต.ลาดชิด ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา (แม่น้ำน้อย) กรมชลประทานได้แจ้งเตือนไปยังผู้ว่าราชการ 11 จังหวัดในลุ่มน้ำเจ้าพระยา รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำให้เฝ้าระวังระดับน้ำอย่างใกล้ชิด หากมีแนวโน้มระดับน้ำเพิ่มขึ้น จะมีการแจ้งข้อมูลให้ทราบเป็นระยะ
ทั้งนี้ กรมชลประทานได้สั่งการให้ทุกโครงการชลประทานทั่วประเทศ เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับฝนที่อาจตกหนักในระยะนี้ ควบคุมปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมกับแต่ละช่วงเวลา เตรียมพร้อมเครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ และเครื่องจักรกลอื่น ๆ ประจำในพื้นที่เสี่ยง เพื่อให้สามารถเข้าดำเนินการแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที 📞 สำหรับประชาชนที่ต้องการความช่วยเหลือ สามารถติดต่อ โครงการชลประทานในพื้นที่ใกล้บ้าน หรือสอบถามข้อมูลสถานการณ์น้ำได้ที่ สายด่วนกรมชลประทาน โทร. 1460 ตลอด 24 ชั่วโมง