มกอช. ผนึกพลัง เดินหน้ายกระดับ ‘ทุเรียนป่าเด็ง’ อัญมณีแห่งป่าตะวันตก

0
71565

มกอช. ผนึกพลัง เดินหน้ายกระดับ ‘ทุเรียนป่าเด็ง’ อัญมณีแห่งป่าตะวันตก สู่สินค้าเกษตรมาตรฐาน GAP พร้อมผลักดันขึ้นทะเบียน GI ทุเรียนเพชรบุรี เพื่อเพิ่มมูลค่าและสร้างรายได้ให้เกษตรกรในท้องถิ่น

ทุเรียนป่าเด็ง เป็นพันธุ์ทุเรียนพื้นเมืองที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในพื้นที่ตำบลป่าเด็ง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งเป็นแหล่งปลูกหลัก มีชื่อเสียงในด้านความอร่อย หอมเป็นเอกลักษณ์ และมักจะปลูกแบบธรรมชาติบนพื้นที่ภูเขา ไม่ได้ปลูกเชิงพาณิชย์ จึงทำให้ผลผลิตมีปริมาณน้อย และมีจำนวนจำกัด

ลักษณะทางกายภาพของ “ทุเรียนป่าเด็ง” ลักษณะผล ขนาด กลางถึงใหญ่ (น้ำหนักเฉลี่ย 2–4 กิโลกรัมต่อผล) รูปทรงผลมีทั้งแบบ กลมป้อม และ ยาวรี แล้วแต่ต้นแม่พันธุ์ เปลือกสีเขียวอ่อนถึงเขียวเข้ม ผิวเปลือกมีหนามขนาดปานกลางถึงใหญ่ หนามไม่แหลมมาก เนื้อทุเรียนมีรสชาติหวานมัน เนื้อหนา เมล็ดลีบ เนื้อละเอียดเป็นครีม กลิ่นหอมอ่อน เนื้อสัมผัสเนียนนุ่มแห้งละเอียด เส้นใยน้อย เนื้อสีเหลืองอ่อนถึงเหลืองเข้ม และมีฤดูกาลเก็บเกี่ยวทุเรียนป่าเด็ง
เริ่มประมาณช่วงปลายเดือนพฤษภาคม และเก็บเกี่ยวมากที่สุดในเดือนมิถุนายน–กรกฎาคม และสิ้นสุดฤดูกาล
ต้นเดือนสิงหาคม แล้วแต่สภาพอากาศในแต่ละปี

นายณรงค์ คงไทย (ลุงจิ๋ว) เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนป่าเด็ง กล่าวว่า ป่าเด็งเป็นพื้นที่ในหุบเขาเดียวกับป่าละอู มีแม่น้ำคั่นระหว่างป่าละอูและป่าเด็ง ห่างกันประมาณ/ 30 เมตร รสชาติทุเรียนจึงมีความคล้ายกัน ลักษณะความแก่ของทุเรียนดูได้จากหนาม ปลายหนามมีสีน้ำตาลเข้ม ปากปลิงบวมโต เห็นรอยต่อชัดเจน ก้านผลแข็งสีเข้ม ร่องหนามห่างและมีสปริงเมื่อบีบ มีกลิ่นหอม เมื่อเคาะฟังเสียง เสียงจะโปร่งบ่งบอกได้ว่า เนื้อทุเรียนเริ่มร่อนออกจากเปลือก ทุเรียนป่าเด็งมีประวัติการปลูกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2520 เกษตรกรส่วนใหญ่ปลูกแบบรายเดี่ยว และมีความต้องสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคทั้งด้านคุณภาพและความปลอดภัย เพื่อรองรับการขยายตัวของตลาด ซึ่งกลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นลูกค้าประจำมาซื้อผลผลิตที่หน้าสวน และส่งขายในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรีและจังหวัดใกล้เคียง

มกอช. ยกระดับมาตรฐาน ‘ทุเรียนเพชรบุรี’ ขับเคลื่อนจากต้นน้ำถึงปลายน้ำ นางกาญจนา แดงรุ่งโรจน์ รองเลขาธิการ มกอช. กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย มกอช. ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรเพชรบุรี สำนักงานเกษตรจังหวัดเพชรบุรี และกรมวิชาการเกษตร ได้ร่วมลงพื้นที่ ณ สวนทุเรียนลุงจิ๋ว ในพื้นที่ป่าเด็ง อำเภอแก่งกระจาน ซึ่งเป็นเกษตรกรต้นแบบที่ได้ใบรับรอง GAP โดยผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี มีนโยบายที่ต้องการจะยกระดับและพัฒนาทุเรียนของจังหวัดเพชรบุรี ให้มีมูลค่าสูงขึ้น เกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และคาดหวังในอนาคตจะจดทะเบียนเป็นสินค้าอัตลักษณ์พื้นถิ่น หรือ GI ของจังหวัดเพชรบุรี เพิ่มขึ้นอีกหนึ่งชนิด และพานิชย์จังหวัดเพชรบุรีจะเข้ามาร่วมดำเนินการตรวจสอบตั้งแต่ลักษณะดิน ว่ามีความแตกต่างจากลักษณะดินของที่อื่น ๆ อย่างไร แล้วถึงจะสามารถบ่งบอกถึงความแตกต่างของทุเรียนในแต่ละพื้นที่ รวมถึงรสชาติ และลักษณะภายนอกของผลทุเรียนด้วย ที่สำคัญก็คือ ต้องมีใบรับรองมาตรฐาน GAP หรือถ้ามีมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ก็จะดียิ่งขึ้น และจะทำให้มีความเชื่อมั่นว่าสินค้ามีความปลอดภัยเพิ่มขึ้น

ในปี 2568 มกอช. จึงร่วมกับหน่วยงานภาคีในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี ได้แก่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรเพชรบุรี สำนักงานเกษตรจังหวัดเพชรบุรี กรมวิชาการเกษตร สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดเพชรบุรี และสำนักงานพาณิชย์จังหวัดเพชรบุรี รวมถึงอาสาสมัครเกษตร สาขา Q อาสา ในการขับเคลื่อนการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานทุเรียนในพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ สร้างความเข้มแข็งด้านความปลอดภัยอาหารของจังหวัดเพชรบุรี โดยสร้างองค์ความรู้ให้เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนตามมาตรฐาน GAP พืชอาหาร (มกษ. 9001-2564) ในพื้นที่ จำนวน 53 แปลง และนำร่องการตรวจ 15 แปลง ในพื้นที่อำเภอแก่งกระจาน อำเภอหนองหญ้าปล้อง และอำเภอท่ายาง หากได้การรับรองตามมาตรฐาน GAP พืชอาหารแล้ว จะสามารถต่อยอดไปสู่ระบบมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง เช่น มาตรฐานหลักปฏิบัติในการตรวจและรับผลทุเรียนสำหรับโรงรวบรวมและโรงคัดบรรจุ (มกษ. 9070 – 2566) มาตรฐานการปฏิบัติที่ดีสำหรับโรงรวบรวมผักและผลไม้สด (มกษ. 9047 – 2560) มาตรฐานการปฏิบัติที่ดีสำหรับโรงคัดบรรจุผักและผลไม้สด (มกษ. 9035 – 2563) และการรับรองสิ่งบ่งชี้
ทางภูมิศาสตร์ (GI) ซึ่งจะช่วยสร้างความเข็มแข็ง และเกิดความยั่งยืนในการผลิตสินค้าเกษตรของจังหวัดเพชรบุรี ต่อไปGI ทุเรียนเพชรบุรี : ความภูมิใจของท้องถิ่น สู่ความยั่งยืนของชาติ


ปัจจุบัน จังหวัดเพชรบุรีมีพื้นที่ปลูกทุเรียนทั้งหมด จำนวน 7,281 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ที่ให้ผลผลิต จำนวน 2,258 ไร่ คิดเป็น 30 % และพื้นที่ที่ยังไม่ให้ผลผลิต จำนวน 5,023 ไร่ ราคาขายเฉลี่ย 205 บาท/กิโลกรัม พื้นที่ปลูกส่วนใหญ่ ได้แก่ อำเภอแก่งกระจาน อำเภอหนองหญ้าปล้อง อำเภอท่ายาง และอำเภอใกล้เคียง

“จากความมุ่งมั่นและสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานในพื้นที่ ร่วมกับ Q อาสา จังหวัดเพชรบุรี
เราไม่ได้แค่ส่งเสริมให้เกษตรกรเข้าสู่ระบบการรับรองมาตรฐานเท่านั้น แต่ร่วมมือกับเกษตรกรตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง ทั้งการส่งเสริมองค์ความรู้ กระบวนการผลิต การจัดการหลังการเก็บเกี่ยว ไปจนถึงด้านการตลาด
เพื่อส่งสริมให้สินค้าไทยไม่เพียง ‘ขายได้’ แต่ ‘ขายดี’ และยั่งยืน” รองเลขาธิการ มกอช. กล่าว