“Micro Drama” หรือ “ละครแนวตั้ง” กำลังกลายเป็นหนึ่งในรูปแบบเนื้อหาที่มาแรงที่สุดในอุตสาหกรรมบันเทิงระดับโลก ด้วยความสามารถในการเข้าถึงผู้ชมผ่านมือถืออย่างรวดเร็ว กระชับ และตรงพฤติกรรมผู้บริโภคยุคดิจิทัล ล่าสุด โครงการ “EMDT เจาะลึกเทรนด์ละครแนวตั้ง: การสร้างสรรค์ สร้างรายได้ สร้าง Soft Power” ได้จัดเวิร์กช็อปเชิงลึกขึ้น ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 15–16 พฤษภาคม 2568
งานนี้ได้รับการสนับสนุนอย่างเป็นทางการจาก กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม และ สำนักงานส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ (THACCA – Thailand Creative Culture Agency) ร่วมด้วย โครงการ OFOS (One Family One Soft Power)และความร่วมมือจากภาควิชาการ โดยมีบุคคลสำคัญจากวงการบันเทิงเข้าร่วมอย่างคับคั่ง พร้อมเสียงสะท้อนที่ตรงกันว่า “ละครแนวตั้ง” คือโอกาสใหม่ในการขับเคลื่อน Soft Power ไทยสู่เวทีโลก
ดร.เศรษฐา วีระธรรมานนท์ อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านภาพยนตร์ จาก มทร.กรุงเทพฯ กล่าวว่า “ละครแนวตั้งตอบโจทย์ผู้ชมยุคใหม่ และสร้างรายได้จริง ควรเร่งพัฒนาบุคลากรไทยให้ผลิตงานคุณภาพทัดเทียมระดับสากล”
คุณวรายุทธ มิลินทจินดา ผู้จัดละครชื่อดัง ระบุว่า “Micro Drama ไม่ใช่เพียงเทรนด์ แต่คือโอกาสฟื้นฟูวงการละครไทยหลังภาวะซบเซา หากได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างจริงจัง จะเป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญในการผลักดันคอนเทนต์ไทยให้ไปไกลกว่าที่เคย”
กระทิง ขุนณรงค์ ประเทศรัตน์ นักแสดงและกรรมการ MinChap แอปพลิเคชันซีรีส์แนวตั้ง กล่าวว่า “ผู้ชมกำลังเปลี่ยนพฤติกรรม ละครแนวตั้งตอบสนองได้ตรงจุด สั้น กระชับ เข้าใจง่าย และสร้างอารมณ์ร่วมได้ในระยะเวลาอันสั้น อยากให้ลองเปิดใจ สนับสนุนซีรีส์ ละครแนวตั้ง ฝากไว้ด้วยนะครับ”
ภายในเวิร์กช็อปมีทั้งการบรรยายและกิจกรรมฝึกปฏิบัติ อาทิ:
• การปรับตัวของนักเล่าเรื่องไทยกับบทละครแนวตั้งเพื่อการผลิตจริง
• การถ่ายทอดประสบการณ์จากประเทศจีน โดย ผาง เต้าหมิง ผู้อำนวยการผลิตจาก Shanghai Zuji Culture & Entertainment Co., Ltd.
• กิจกรรมถ่ายทำภาคสนาม และ การสร้าง Micro Drama จริง จากผู้เข้าอบรม
โครงการ EMDT มุ่งเน้น 4 เป้าหมายหลัก ได้แก่
1. ถ่ายทอดองค์ความรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากร
2. เพิ่มทักษะในการสร้างผลงานจริง
3. จุดประกายแรงบันดาลใจให้ผู้ผลิตรุ่นใหม่
4. ส่งเสริมการใช้เนื้อหาละครแนวตั้งเป็นเครื่องมือสร้าง Soft Power ไทยที่เข้าถึงผู้ชมทั่วโลก
เสียงจากเวทีครั้งนี้สะท้อนความมั่นใจว่า ละครแนวตั้งจะกลายเป็นฟันเฟืองใหม่ของอุตสาหกรรมบันเทิงไทย ที่ไม่เพียงฟื้นฟูจากภายใน แต่ยังผลักดันวัฒนธรรมไทยให้เป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติอย่างสร้างสรรค์