สมาคมนักอุทกวิทยาไทย ร่วมกับกรมชลประทาน และสมาคมศิษย์เก่าวิศวกรรมชลประทานในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเวทีเสวนาวิชาการ “ความเสี่ยง ภัยพิบัติทางน้ำ 2025 ในภาวะภูมิอากาศสุดขั้ว” เพื่อเตรียมพร้อมรับสถานการณ์น้ำปี 2568 ได้อย่างทันท่วงที
วันนี้ (16 พฤษภาคม 68) สมาคมนักอุทกวิทยาไทย ร่วมกับกรมชลประทาน และสมาคมศิษย์เก่าวิศวกรรมชลประทาน ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดประชุมเสวนาทางวิชาการ “ความเสี่ยง ภัยพิบัติทางน้ำ 2025 ในภาวะภูมิอากาศสุดขั้ว” ณ หอประชุมชูชาติ กำภู สถาบันพัฒนาการชลประทาน ตำบลบางตลาด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและแนวทางเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำในปี 2568 โดยได้รับเกียรติจาก นายสัญชัย เกตุวรชัย นายกสมาคมนักอุทกวิทยาไทย เป็นประธานเปิดงาน โดยมี รศ.ดร.บัญชา ขวัญยืน อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมชลประทาน คณะวิศวกรรมศาสตร์ กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน เป็นผู้ดำเนินรายการเสวนา ร่วมกับวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ 4 ท่าน ได้แก่ นายชยันต์ เมืองสง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายบริหาร สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี นายฐนโรจน์ วรรัฐประเสริฐผู้อำนวยการศูนย์ อำนวยการน้ำแห่งชาติ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ นายสมควร ต้นจาน ผู้อำนวยการกองพยากรณ์อากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา และนายเดช เล็กวิชัย รองอธิบดีกรมชลประทาน นับเป็นการเปิดพื้นที่ในการนำเสนอข้อมูล แลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ และรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับสภาพอากาศ แนวโน้มสถานการณ์น้ำ
การเตรียมพร้อมของหน่วยงานที่รับผิดชอบ ตลอดจนนโยบายรัฐบาลในการบริหารจัดการน้ำของประเทศ
นายสัญชัย เกตุวรชัย นายกสมาคมนักอุทกวิทยาไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันสภาพอากาศของโลกได้รับผลกระทบจากสภาวะโลกร้อน เกิดปัญหาภัยแล้งและอุทกภัยรุนแรงในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ในปี พ.ศ.2568 นี้ อิทธิพลจากปรากฏการณ์เอลโซ่ (ENSO) ได้เข้าสู่สภาวะเป็นกลาง และมีแนวโน้มจะคงอยู่เช่นนี้ไปจนถึงช่วงเดือนกันยายนถึงพฤศจิกายน โดยกรมอุตุนิยมวิทยาได้ประกาศว่า ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการตั้งแต่ วันที่ 15 พฤษภาคม 2568 คาดการณ์ภาพรวมฝนปีนี้ มีแนวโน้มตกน้อยกว่าปีที่ผ่านมา ด้านพายุจรคาดว่าจะมีพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยประมาณ 1–2 ลูก โดยเฉพาะบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ ทั้งนี้ ในช่วงก่อนเข้าฤดูฝนตั้งแต่ปลายเดือนเมษายน เป็นต้นมา ประเทศไทยมีฝนตกหนักถึงหนักมากกระจายเกือบทั่วประเทศ ส่งผลให้สภาพพื้นดินชุ่มน้ำตั้งแต่ต้นฤดูฝน อาจทำให้เกิดปัญหาอุทกภัยขึ้นได้
“งานเสวนาวิชาการในครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อนำเสนอข้อมูล แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์ และรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับสภาพอากาศ แนวโน้มสถานการณ์น้ำ การเตรียมพร้อมของหน่วยงานที่รับผิดชอบ ตลอดจนนโยบายการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลในการเตรียมพร้อมรับสถานการณ์น้ำ ที่จะเกิดขึ้นปี 2568 โดยได้เชิญผู้เชี่ยวชาญด้านอุตุนิยมวิทยา หน่วยปฏิบัติงานและหน่วยงานกำหนดนโยบายในการบริหารจัดการน้ำของประเทศ ตลอดจนหน่วยงานฝ่ายบริหารของรัฐบาลมาเป็นวิทยากรในครั้งนี้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า การจัดเสวนาในครั้งนี้จะทำให้ผู้เข้าร่วมการเสวนาได้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้และแนวคิดกันอย่างกว้างขวาง รวมทั้งได้ข้อสรุปที่ก่อให้เกิดประโยชน์สามารถนำไปปฏิบัติเพื่อลดภัยพิบัติจากน้ำของประเทศต่อไป” นายสัญชัย กล่าวเพิ่มเติม
นายเดช เล็กวิชัย รองอธิบดีฝ่ายบำรุงรักษา กรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานในฐานะหน่วยงานปฏิบัติ ได้ถอดบทเรียนจากภัยพิบัติที่ผ่านมา อาทิ อุทกภัย วาตภัย ดินโคลนถล่ม และแผ่นดินไหว เพื่อนำมาปรับใช้ในการวางแผนรับมืออย่างมีประสิทธิภาพ ในปี 2568 กรมชลประทานได้เตรียมความพร้อมทั้งด้านเครื่องจักรและเครื่องมือ โดยติดตั้งไว้ตามจุดเสี่ยงทั่วประเทศ ครอบคลุมทุกภูมิภาค และสามารถปฏิบัติงานได้ทันทีเมื่อเกิดเหตุ พร้อมทั้งมีการคาดการณ์ปริมาณน้ำและปริมาณฝน เพื่อช่วยลดผลกระทบจากอุทกภัยในทุกพื้นที่ และมีการแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำให้เกษตรกรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบล่วงหน้าเพื่อเตรียมพร้อมรับมือ
ในด้านการพัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำ กรมชลประทานได้นำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้ อาทิ เรดาร์ตรวจอากาศแบบ Solid-state X-band RID เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำของเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ , SWAMP แพลตฟอร์มบริหารจัดการน้ำที่ครอบคลุม 22 ลุ่มน้ำหลักทั่วประเทศ พัฒนาระบบวิเคราะห์และรวบรวมข้อมูลด้านการจัดการน้ำอย่างครบวงจร , rriSAT เทคโนโลยีสำหรับประเมินความต้องการใช้น้ำของพืชล่วงหน้า 7 วัน
ทั้งนี้ เพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ และยกระดับการบริหารจัดการน้ำของประเทศให้มีความแม่นยำ มีประสิทธิภาพ และยั่งยืนมากยิ่งขึ้น