ปลาหมอคางดำ ที่แพร่พันธุ์ในแหล่งน้ำธรรมชาติของไทย และอีกหลายประเทศ สร้างผลกระทบต่อระบบนิเวศ ด้วยคุณสมบัติที่ปรับตัวเก่ง กินอาหารได้หลากหลาย และทนต่อสภาพแวดล้อม ทำให้ยากต่อการควบคุม
โดยช่วงที่ผ่านมา ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง นำโดยหน่วยงานรัฐได้ต่างเร่งใช้หลายมาตรการในการลดจำนวนปลาชนิดนี้ ทั้งการจับออกมาแปรรูปเป็นอาหาร ปลาป่น หรือทำเป็นปุ๋ยหมัก รวมถึงการเร่งปล่อยปลานักล่า และพัฒนาพันธุ์ปลาหมอคางดำให้เป็นหมัน เพื่อควบคุมปริมาณและลดการขยายพันธุ์ในระยะยาว
ทั้งนี้ยังมีประเด็นสำคัญที่คาใจสังคม คือ การหา “ต้นตอ” ของปลาชนิดนี้ว่ามาจากไหน ทำไมจึงหลุดรอดเข้าสู่แหล่งน้ำธรรมชาติได้ นำไปสู่การตั้งข้อสงสัยต่อกลุ่มบริษัทเอกชนบางแห่ง ที่เคยได้รับอนุญาตให้นำเข้าอย่างถูกกฎหมาย รวมถึง 11 บริษัทส่งออกปลา ที่ถูกตั้งข้อสงสัยว่าอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ
เรื่องจากเหตุผลที่บอกกับสังคมว่ามีการ “กรอกข้อมูลผิด” จากเจ้าหน้าที่ชิปปิ้งตลอด 4 ปี ซึ่งเป็นประเด็นที่หลายฝ่ายมองว่ายังชวนให้ตั้งคำถาม เพราะหากเป็นการกรอกชื่อผิดจริง เหตุใดจึงเกิดขึ้นซ้ำซากถึง 4 ปี โดยไม่มีการแก้ไข เอกสารส่งออกชื่อไม่ตรงกับใบอนุญาต ทำไมจึงผ่านด่านส่งออกไปได้ ประเทศปลายทางยอมรับสินค้าได้อย่างไร หากชื่อวิทยาศาสตร์ไม่ถูกต้อง แล้วจะมั่นใจได้อย่างไรว่า ปลาที่ส่งออกไปเป็นชนิดใด และแหล่งที่มาของปลาที่ส่งออกมาจากไหน เคยแจ้งและมีการตรวจสอบตาม พ.ร.ก.ประมง ปี 2558 หรือไม่ สิ่งเหล่านี้ยังไม่ได้รับคำอธิบายที่ชัดเจนจากหน่วยงานรัฐหรือบริษัทที่เกี่ยวข้องดังกล่าว
ขณะที่เมื่อทำการตรวจสอบย้อนหลังเมื่อปี 2560 กลับพบว่าไม่มีการติดตามแก้ไขข้อผิดพลาด ทั้งที่เกิดความสับสนหลายครั้งจากการเปลี่ยนชื่อปลาไปมา และอาจยืนยันไม่ได้ว่า ปลาที่ส่งออกไปนั้นเป็นชนิดใดกันแน่ รวมถึงยังมีข้อกังวลต่อไปว่า หลังยุติการส่งออกแล้ว ปลาที่เหลืออยู่ถูกทำลายอย่างถูกต้องหรือไม่? หรือหลุดรอดสู่ธรรมชาติ จนกลายเป็นปัญหาในปัจจุบัน
อีกประเด็นที่ถูกตั้งข้อสงสัย คือ “ขบวนการลักลอบนำเข้าปลาสวยงาม” ซึ่งเชื่อว่าอาจเป็นต้นเหตุที่แท้จริงของการแพร่พันธุ์ปลาต่างถิ่นในไทย โดยเฉพาะเมื่อมีการพบ “ปลาหมอบัตเตอร์” อีกหนึ่งสายพันธุ์ปลาต่างถิ่นต้องห้าม ที่กำลังแพร่พันธุ์ในธรรมชาติ ทั้งๆที่ไม่มีข้อมูลการนำเข้าอย่างเป็นทางการ
เรื่องนี้ยิ่งตอกย้ำว่าการลักลอบนำเข้ายังมีอยู่จริง และอาจไม่เคยถูกตรวจสอบอย่างเข้มงวด
ปลาหมอคางดำเป็นปัญหาที่ไม่อาจปล่อยผ่านได้อีกต่อไป ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งตรวจสอบให้สิ้นสงสัย เพื่อไม่ให้ปัญหานี้ลุกลามจนเกินควบคุม และต้องเร่งจัดการเพื่อรักษาทรัพยากรธรรมชาติให้ยั่งยืน./