รมว.“เฉลิมชัย” ตอบโจทย์ตลาดสมุนไพร สั่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาพืชสมุนไพรไทย มุ่งส่งเสริมและพัฒนาให้เกิดการรวมกลุ่มกันผลิตภายใต้ระบบส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่
ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันแนวโน้มการบริโภคสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สมุนไพรในไทย พบว่า ตั้งแต่ปี 2560 – 2563 มีอัตราการเติบโตประมาณ10% ต่อปี ขณะที่พื้นที่ปลูกสมุนไพร มีจำนวนเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยมีปัจจัยมาจากความต้องการของตลาดและนโยบายการส่งเสริมทั้งของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงสาธารณสุข ที่มีนโยบายส่งเสริมให้โรงพยาบาลของรัฐนําสมุนไพรมาใช้ในการรักษาโรคควบคู่กับการใช้ยาแผนปัจจุบัน เป็นต้น และจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยังส่งผลทําให้ประชาชนหันมาใส่ใจดูแลเรื่องสุขภาพกันมากขึ้นโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ได้หันมาให้ความสนใจในการบริโภคสมุนไพร ซึ่งพบว่ามูลค่าของผลิตภัณฑ์สมุนไพรภายในประเทศ มีอัตรการเติบโตเฉลี่ย10.3% ภายหลังประกาศใช้แผนแม่บทแห่งชาติ ว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทย ฉบับที่ 1 พ.ศ.2560 – 64 ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตมากกว่าจีน ที่เติบโตเฉลี่ย5.06% ญี่ปุ่น 0.85% และเกาหลีใต้ 5.43% ขณะที่ในตลาดโลกพบว่ามีมูลค่าการบริโภคสมุนไพรมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรฯ ได้เล็งเห็นโอกาสทางการตลาดของพืชสมุนไพรที่มีทิศทางการขยายตัวเพิ่มมากขึ้น ซึ่งนับเป็นผลดีกับเกษตรกร จึงมีนโยบายขับเคลื่อนการพัฒนาพืชสมุนไพรไทย และพืชทางเลือกอื่น ๆ โดยเน้นให้เกิดความเชื่อมโยงในการพัฒนาตลอดห่วงโซ่อุปทานตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง โดยใช้หลักการ “ตลาดนําการผลิต” ที่เน้นผลิตพืชที่มีศักยภาพ มีความต้องการของตลาด และที่สำคัญสอดล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาสมุนไพรไทย ซึ่งเป็นภูมิปัญญาและทรัพยากรของประเทศ
ด้าน ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงเกษตรฯ ได้มีการตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาพืชสมุนไพรไทย เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้มีการตั้งคณะอนุกรรมการวัตถุดิบสมุนไพร และคณะทํางานขับเคลื่อนพัฒนาผลิตผลสมุนไพรที่มีศักยภาพ มาขับเคลื่อนการดำเนินงานให้เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นนอกจากนี้ ยังได้จัดทำแผนที่ความเหมาะสมของที่ดินสำหรับปลูกพืชสมุนไพร (Land Suitability) ที่สำคัญ และเป็นที่ต้องการของตลาด จำนวน 24 ชนิดได้แก่ ขมิ้นชัน ไพล บัวบก กระชายดำ ฟ้าทะลายโจรกระชายเหลือง กระวาน ข่า ขิง คำฝอย ตะไคร้ บุกพริกไทย และว่านชักมดลูก กระเจี๊ยบแดง เก๊กฮวยดีปลี บอระเพ็ด พญายอ เพชรสังฆาต มะระขี้นก มะลิ มะแว้งเครือ มะแว้งต้น
“จากการที่ได้เปิดให้เกษตรกรผู้ปลูกสมุนไพรมาขึ้นทะเบียน พบว่า เกษตรกรที่มาขึ้นทะเบียนรวม2,866 ครัวเรือน ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อย ดังนั้นกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงมอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตรดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาให้เกิดการรวมกลุ่มกันผลิตภายใต้ระบบส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่ ซึ่งปัจจุบันสามารถจัดตั้งเกษตรแปลงใหญ่สมุนไพรได้ถึง 34 แปลง ใน 21 จังหวัดเกษตรกรสมาชิก 1,531 ราย คิดเป็นพื้นที่ 5,500 ไร่และเพื่อยกระดับการผลิต ในปี 2565 กรมส่งเสริมการเกษตรได้เสนอของบประมาณจัดทำโครงการส่งเสริมประสิทธิภาพการผลิตสินค้าพืชสมุนไพร เพื่อขยายกลุ่มเกษตรกรเป้าหมายให้ครอบคลุมพื้นที่ทั้ง77 จังหวัดด้วย” ดร.ทองเปลว กล่าว