ในวิกฤติ…ยังมีโอกาส เป็นคำที่ยังใช้ได้เสมอ จากวิกฤติไวรัสโควิด-19 ที่กำลังแพร่ระบาดไปทั่วโลก รวมถึงโรคแอฟริกันสไวน์ฟีเวอร์ หรือโรค ASF ในหมู ที่สร้างผลกระทบกับอุตสาหกรรมหมูในหลายประเทศ
ขณะที่ไทยได้รับการจัดอันดับจากมหาวิทยาลัยจอห์นฮอปกินส์ ให้อยู่ในอันดับ1 ประเทศที่ป้องกันโควิด- 19 ได้ดีเยี่ยม พร้อมกับการครองตำแหน่ง “ประเทศที่ปลอดจากโรค ASF ในหมู” ไว้ได้อย่างเหนียวแน่น
นอกจากนานาชาติจะยกย่องไทยในฐานะหนึ่งในประเทศที่บริหารจัดการด้านการป้องกันโรคระบาดทั้งในคนและในสัตว์ได้ดีที่สุดแล้ว ยังทำให้ “หมูไทย” กลายเป็นที่ต้องการของหลายประเทศ โดยเฉพาะในภูมิภาคนี้ที่โดน ASF แผลงฤทธิ์ ทำให้ปริมาณหมูลดลงทุกประเทศ ราคาจึงพุ่งสูงทำสถิตินิวไฮไปหลายรอบ ทั้งจีน เวียดนาม และเมียนมา
การที่ไทยสามารถป้องกัน ASF ไม่ให้เข้ามาทำลายอุตสาหกรรมหมูได้นั้น ไม่ได้เป็นเพราะโชคช่วย แต่เกิดจากความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ในการร่วมกันตั้งปราการที่แน่นหนา ยอมเหนื่อยและยอมลงทุนในระบบป้องกันโรค แม้ต้องมีต้นทุนเพิ่มถึงตัวละกว่า 100 บาทก็ตาม แต่พวกเขายินดีทำตามโดยไม่ขัดข้อง เพื่อปกป้องอาชีพเดียวนี้เอาไว้
และยังเป็นการปกป้องผู้บริโภคในประเทศไม่ให้ต้องเผชิญปัญหาขาดแคลนเนื้อหมูอย่างประเทศอื่นๆ วันนี้หมูไทยจึงกลายเป็น “หมูพรีเมียมที่ราคาถูกที่สุดในภูมิภาค”
ทั้งคุณภาพสินค้า มาตรฐานการผลิตหมูปลอดโรค และราคาที่จูงใจ ทำให้หมูไทยเนื้อหอม จีน เวียดนาม ต่างต้องการนำเข้าหมูไทยมากขึ้น ล่าสุดสิงคโปร์ก็มีความต้องการหมูไทย จากปัญหาขาดแคลนไม่ต่างจากชาติอื่น
วิกฤติของภูมิภาค กลายเป็นโอกาสครั้งสำคัญของหมูไทย ดีมานด์ที่เข้ามานี้ เป็นช่วงเวลาพิเศษของวงการหมู ที่แทบไม่เคยมีมาก่อน เพราะที่ผ่านมาไม่สามารถส่งออกได้ ผลผลิตหมูยังคงเกินกว่าความต้องการบริโภคภายในประเทศมาตลอด จึงถือเป็นโอกาสที่เปิดกว้างท่ามกลางวิกฤติโควิด-19 และ ASF ที่ภาครัฐและคนในอุตสาหกรรมหมูต้องไม่ปล่อยโอกาสให้หลุดลอย
เพราะไม่เพียงเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูทั้ง 200,000 รายทั่วประเทศ จะได้ลืมตาอ้าปากจากภาวะขาดทุนสะสมมานานกว่า 3 ปีแล้ว ยังส่งผลดีไปตลอดซัพพลายเชน ที่เชื่อมโยงเป็นสายยาวไปถึงเกษตรผู้เพาะปลูกพืชอาหารสัตว์ที่เป็นวัตถุดิบภายในประเทศ (Local Content) แบบ 100% ทั้งในส่วนของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รำข้าว ปลายข้าว มันสำปะหลัง ฯลฯ ที่จะสามารถขายผลผลิตได้ราคาสูงขึ้น เท่ากับยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว ช่วยต่อชีวิตเกษตรกรคนเลี้ยงหมูและผู้เพาะปลูกทั้งหมด
วันนี้ เมื่อโควิด-19 พ่นพิษ ทุกอุตสาหกรรมต่างได้รับผลกระทบ หลังจากไม่สามารถส่งออกได้ จึงต้องหยุดสายพานการผลิตลง ยิ่งสะท้อนให้เห็นว่า “สินค้าเกษตร” คือ “ของจริง” เป็นสินค้าที่คนไทยผลิตเอง ไม่ใช่การรับจ้างผลิตเหมือนอุตสาหกรรมอื่นๆ ถึงเวลาแล้วที่สินค้าเกษตรและอาหารที่เป็นจุดแข็งของประเทศมาตลอด จะกลายเป็น “พระเอก” ที่ช่วยฟื้นเศรษฐกิจประเทศได้อีกทาง
ทั้งหมดนี้ถือเป็นโอกาสของไทย โอกาสของเกษตรกร แม้อาจทำให้ราคาภายในขยับบ้างก็เป็นเพียงระยะสั้นๆ ซึ่งขอให้ทุกฝ่ายเข้าใจ และต้องไม่ลืมว่าผู้บริโภคมีทางเลือกมากมาย สามารถเลือกบริโภคทั้งไข่ ไก่ ปลา และอาหารโปรตีนอื่นๆ ทดแทนได้
เหล่าเกษตรกรฝากความหวังไว้กับ 2 รัฐมนตรี ทั้ง รมว.เกษตรและสหกรณ์ และ รมว.พาณิชย์ ที่จะร่วมกันผลักดันการส่งออกหมูอย่างจริงจัง เพื่อส่งหมูไทยสร้างชื่อให้เหมือนกับที่ประสบความสำเร็จจากการส่งออกสินค้าไก่เนื้อไทยไปผงาดในตลาดโลกมาแล้ว