อธิบดีกรมหม่อนไหมลงพื้นที่ติดตามความเสียหายจากอุทกภัยอำเภอปักธงชัย พร้อมเร่งช่วยเหลือเกษตรกรหม่อนไหมหลังน้ำลด

0
10057

วานนี้ (10 พ.ย.63)นายปราโมทย์ ยาใจ อธิบดีกรมหม่อนไหม พร้อมผู้อำนวยการสำนักงานหม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ เขต 4 จ.นครราชสีมา และศูนย์เครือข่าย ได้เดินทางไปพบปะและรับฟังปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากพายุฮีโกส ที่ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน โดยมีเกษตรกรและผู้ประกอบการหม่อนไหมที่ได้รับความเดือดร้อนในอำเภอปักธงชัย 3 ชุมชน ได้แก่ชุมชนโนนตูม ชุมชนบ่อปลา และชุมชนธงชัย รวม 50 ราย ได้รับผลกระทบจากอุปกรณ์ต่าง ๆ ถูกน้ำท่วมขัง เช่น อุปกรณ์สาวไหม กี่ทอผ้า เครื่องกรอเส้นยืน และอุปกรณ์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้รับความเสียหายชำรุด ไม่สามารถใช้งานได้ มีมูลค่าความเสียรวม 750,000 บาท

พร้อมกันนี้ อธิบดีกรมหม่อนไหมได้มอบถุงยังชีพเป็นกำลังใจให้แก่กลุ่มเกษตรกรดังกล่าว พร้อมมอบหมายให้สำนักงานหม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ เขต 4 จ.นครราชสีมา และศูนย์เครือข่ายเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และแจ้งเตือนเกษตรกรเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ พร้อมเตรียมการช่วยเหลือเกษตรกรในเรื่องการควบคุมราคาเส้นไหม การขยายตลาดผ้าไหม การรณรงค์ให้มีการใช้ผ้าไหมในชีวิตประจำวันเพิ่มมากขึ้น รวมถึงส่งเสริมการออกแบบชุดผ้าไหมให้ทันสมัยใช้ได้ทุกเพศทุกวัย

นอกจากนี้ กรมฯ ได้มีการวางแผนที่จะขยายฐานกลุ่มลูกค้าในตลาดต่างประเทศให้เพิ่มมากขึ้น ตามนโยบายของนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อย่างไรก็ตามสืบเนื่องจากปัญหาภาวะการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า (โควิด-19) ที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออก ทำให้แผนการส่งเสริมด้านการตลาดต่างประเทศต้องหยุดชะงักลง จึงมีการปรับแผนกลยุทธ์ มาเน้นการตลาดออนไลน์ โดยส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเรียนรู้แนวทางการจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น รวมทั้งการจัดงานมหกรรมผ้าไหมไทยสู่เส้นทางโลก ซึ่งมีกำหนดจัดประมาณปลายเดือนธันวาคม 2563 นี้ โดยจะเป็นการประชาสัมพันธ์ เพื่อถ่ายทอดความสวยงามวิจิตรบรรจงของผ้าไหม ผ่านเอกอัครราชทูตจากประเทศต่าง ๆ มากกว่า 100 ประเทศ ในรูปแบบของการสวมใส่ชุดผ้าไหมซึ่งออกแบบโดยนักศึกษารุ่นใหม่ และนักออกแบบมืออาชีพ


ทั้งนี้ หากสถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้น กรมหม่อนไหมมีแผนการดำเนินงานที่จะขยายช่องทางการตลาดผ่านดีไซเนอร์ชั้นนำของโลก และเปิดตลาดกลุ่มลูกค้าแถบตะวันออกกลางเพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นกลุ่มเป้าหมายที่มีกำลังซื้อมาก และมีแนวโน้มการใช้ผ้าไหมที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะเป็นการขยายฐานและสร้างโอกาสด้านการตลาดให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการด้านหม่อนไหมของประเทศไทยต่อไป