สมาคมผู้เลี้ยงสุกรฯ ชี้เป้าซื้อหมูถูก ในมหกรรมหมูธงฟ้าพาณิชย์ พร้อมกันทั่วไทย 7 ส.ค. นี้

0
7480

 

น.สพ.วิวัฒน์ พงษ์วิวัฒนชัย อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เปิดเผยว่า กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ สมาคมผู้เลี้ยงสุกร สหกรณ์ทุกภูมิภาค และเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรทั่วประเทศ ผนึกกำลังร่วมกันจัดมหกรรมหมูธงฟ้า ในกิจกรรม “เนื้อหมู…สู้โควิด” จำหน่ายหมูสดลดค่าครองชีพประชาชนทุกภูมิภาคทั่วไทย ด้วยการส่งตรงเนื้อหมูคุณภาพจากฟาร์มเลี้ยงถึงมือผู้บริโภค โดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง ตอกย้ำการให้ความร่วมมือกับกรมการค้าภายใน ยืนหยัดดูแลราคาหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มไว้ไม่เกิน 80 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งเป็นสิ่งที่เกษตรกรร่วมกันดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด เพื่อให้ราคาหมูหน้าเขียงขายปลีกที่ปลายทางไม่เกิน 150-160 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งถือว่าเป็นราคาที่เหมาะสมและเป็นธรรมกับผู้บริโภค และคนเลี้ยงหมูยังคงร่วมกันบริหารจัดการทั้งระบบเพื่อดูแลผู้บริโภคในประเทศให้ดีที่สุด ยืนยันว่าปริมาณการผลิตหมูยังคงเพียงพอกับการบริโภคของคนไทยที่เกือบ 4 หมื่นตัวต่อวัน ขณะที่กำลังการผลิตหมูทั้งประเทศอยู่ที่ 5 หมื่นตัวต่อวัน เท่ากับมีส่วนเกินอยู่มากกว่า 1 หมื่นตัวต่อวัน ดังนั้นไทยจึงไม่มีปัญหาขาดแคลนสุกรแน่นอน

“ขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนและผู้ค้าอาหารมาร่วมกันจับจ่าย เนื้อหมู..สู้โควิด ที่เกษตรกรหมูร่วมกันจัดส่งเนื้อหมูราคาถูกพิเศษเพียงกิโลกรัมละ 130 บาท มาจำหน่ายช่วยลดค่าครองชีพให้ชาวไทย 77 จังหวัด ทุกภูมิภาคทั่วประเทศ พร้อมกันในวันศุกร์ที่ 7 สิงหาคมนี้ ขณะเดียวกันห้างค้าปลีก 8 ห้างใหญ่ ทั้งแม็คโคร, เทสโก้ โลตัส, บิ๊กซี, เดอะมอลล์, วิลล่ามาร์เก็ต, ฟู้ดแลนด์, ท็อปส์, แม๊กซ์ แวลู รวมถึงห้างซุปเปอร์ชีป ในพื้นที่ภาคใต้หลายจังหวัด ก็ยังคงขายหมู 130 บาทต่อกิโลกรัม เพื่อร่วมสนับสนุนมาตรการลดค่าครองชีพประชาชนอย่างต่อเนื่อง ทำให้ทุกพื้นที่ทั้งในตลาดสด ห้างค้าปลีก และหน่วยงานราชการที่ร่วมสนับสนุนกิจกรรม อาทิ ศาลากลางจังหวัด สำนักงานพาณิชย์จังหวัด ปศุสัตว์จังหวัด จะมีเนื้อหมูราคาพิเศษจำหน่ายถึงมือทุกคนอย่างแน่นอน และเกษตรกรยังคงปักหลักตรึงราคาหมูหน้าฟาร์มที่ 80 บาทต่อไป” น.สพ.วิวัฒน์ กล่าว

ทั้งนี้ ราคาหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มปัจจุบันยืนราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 79-80 บาท ขณะที่เกษตรกรมีต้นทุนผลิตสูงถึง 71 บาทต่อกิโลกรัม และที่ผ่านมาเกษตรกรต่างแบกรับภาระขาดทุนมานานกว่า 3 ปี และยังต้องเข้มงวดกับการทำตามมาตรฐานการป้องกันโรค ASF ด้วยระบบไบโอซีเคียวริตี ทำให้มีต้นทุนเพิ่มขึ้นถึง 100-200 บาทต่อตัว เพื่อป้องกันประเทศไทยจากโรคนี้ รวมทั้งเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้เนื้อหมูที่ปลอดภัย และไม่ต้องประสบภาวะขาดแคลนเนื้อหมูดังเช่นประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียที่ปริมาณหมูเสียหายจากโรคนี้ จนทำให้ราคาหมูเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว