จากผลของอิทธิพลพายุ “ซินลากู” ทำให้เกิดฝนตกหนักในหลายพื้นที่ของประเทศไทย ส่งผลดีให้มีน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำและแหล่งน้ำธรรมชาติหลายแห่ง ด้านลุ่มน้ำเจ้าพระยาแม้จะมีปริมาณน้ำไหลงลง 4 เขื่อนหลัก ยังไม่มากนัก แต่พอช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นและปริมาณน้ำใช้การได้ ทำให้สถานการณ์น้ำมีแนวโน้มที่ดีขึ้น
ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ในฐานะโฆษกกรมชลประทาน กล่าวว่า สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) ปัจจุบัน (6 ส.ค. 63) มีปริมาณน้ำรวมกัน 7,794 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 31 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันประมาณ 1,098 ล้าน ลบ.ม. จัดสรรน้ำฤดูฝนไปแล้ว 2,456 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 76 ของแผนจัดสรรน้ำฯที่วางไว้ คงเหลือน้ำที่จัดสรรได้อีกเพียง 794 ล้าน ลบ.ม. ส่วนผลการเพาะปลูกข้าวนาปีล่าสุด(ข้อมูล ณ วันที่ 5 ส.ค. 63) ทำการเพาะปลูกไปแล้ว 3.91 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 48 ของแผนฯ(แผนวางไว้ 8.10 ล้านไร่)
จากอิทธิพลของพายุดังกล่าว ส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีแนวโน้มดีขึ้น โดยในช่วงตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคมจนถึงปัจจุบัน(1 – 6 ส.ค. 63) มีปริมาณน้ำลงอ่างฯรวม 505ล้าน ลบ.ม. แยกเป็น เขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯรวม 91 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนสิริกิติ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ ปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯรวม 393 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จังหวัดพิษณุโลกปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯรวม 20 ล้าน ลบ.ม. และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จังหวัดลพบุรี ปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯรวม 0.61 ล้าน ลบ.ม.
ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าปริมาณน้ำในแม่น้ำน่านตอนบนที่ไหลลงเขื่อนสิริกิติ์ อยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างดี (ระยะเวลา 6 วัน มีปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนสิริกิติ์รวมกว่า 393 ล้าน ลบ.ม.) ส่งผลให้ภาพรวมปริมาณน้ำเก็บกัก 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยามีแนวโน้มดีขึ้น ประกอบกับปริมาณน้ำท่าในแม่น้ำน่านด้านท้ายเขื่อนสิริกิติ์อยู่ในเกณฑ์มาก กรมชลประทาน ได้วางแผนบริหารจัดการน้ำท่าให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยปรับการรับน้ำเข้าสู่ระบบชลประทานทั้งฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกตามความเหมาะสม เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในการทำนาปี