วันที่ 16 กรกฏาคม 2563 นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เป็นผู้แทนกรมชลประทาน เข้าร่วมการประชุมปฐมนิเทศโครงการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น การแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำและบรรเทาอุทกภัย จังหวัดภูเก็ต โดยมี นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานเปิดการประชุม และมี นายสุรชาติ มาลาศรี ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน เป็นผู้กล่าวรายงาน ในการนี้ นายวงศกร นุ่นชูคันธ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ผศ.ดร.หิรัญ ประสารการ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎภูเก็ต พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานราชการในระดับจังหวัด ระดับอำเภอ ระดับตำบล เข้าร่วมการประชุม ณ ห้องประชุมแคแสด 2 อาคารเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต
ซึ่งการประชุมปฐมนิเทศโครงการฯ ในครั้งนี้ เป็นการประชุมแนะนำโครงการ เหตุผลความจำเป็นในการศึกษาแผนหลักการพัฒนาโครงการ พร้อมทั้งนำเสนอแนวทางการศึกษา ความเหมาะสมและศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น รวมถึงแผนงานการดำเนินโครงการ พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น ข้อเสนอแนะต่อการศึกษาโครงการ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของท้องถิ่น เป็นที่ยอมรับของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งกรมชลประทานและคณะผู้ศึกษาพร้อมรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเพื่อนำไปพิจารณาประกอบการศึกษาให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์ต่อไป
โดยโครงการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น การแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำและบรรเทาอุทกภัย จังหวัดภูเก็ต สืบเนื่องจากจังหวัดภูเก็ตมีการขยายตัวของชุมชนและการท่องเที่ยวที่เพิ่มมากขึ้นทุกปี ทำให้มีความต้องการการใช้น้ำในปัจจุบันและอนาคตอย่างมาก โดยพบว่าปริมาณน้ำท่าของจังหวัดรายปีมีมากกว่า 180 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่อ่างเก็บน้ำชลประทานสามารถเก็บน้ำได้ 17.2 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ซึ่งในความเป็นจริงจังหวัดภูเก็ตมีความต้องการใช้น้ำถึง 80 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ทำให้ไม่เพียงพอต่อความต้องการทั้งน้ำอุปโภคบริโภค อุตสาหกรรม และบางส่วนเพื่อการเกษตร โดยเฉพาะบริเวณเเหล่งท่องเที่ยวสำคัญหลายเเห่งของจังหวัด เเม้ว่าจะมีการกำหนดแผนการพัฒนาแหล่งน้ำบ้างแล้ว แต่ก็ยังไม่เพียงพอและทันต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน โดยเฉพาะลุ่มน้ำคลองถลางที่เป็นลุ่มน้ำย่อยแห่งหนึ่งของจังหวัดภูเก็ตที่มีศักยภาพในการพัฒนาแหล่งน้ำสูง เนื่องจากมีพื้นที่รับน้ำขนาดใหญ่ประมาณ 70 ตารางกิโลเมตร มีน้ำไหลผ่านทั้งปีประมาณ 68 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ปริมาณน้ำดังกล่าวไหลทิ้งลงสู่ทะเลโดยไม่มีการจัดเก็บไว้ใช้อย่างเหมาะสม ขณะเดียวกันในช่วงที่ฝนตกหนักหรือมีพายุเข้าพื้นที่ ลุ่มน้ำคลองถลางยังมีปัญหาด้านอุทกภัยมาโดยตลอด
กรมชลประทาน ได้เล็งเห็นถึงปัญหา และเห็นควรให้มีการศึกษาความเหมาะสมการพัฒนาโครงการ เพื่อจัดทำแผนหลักการพัฒนาโครงการและทำการศึกษาความหมาะสมโครงการที่มีความสำคัญที่สุดตามลำดับการศึกษาเเผนหลัก (Mater Plan) พร้อมทั้งการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อที่จะสามารถกำหนดแนวทางการบริหารจัดการได้อย่างเป็นระบบ สามารถเก็บกักน้ำไว้ใช้ได้ตลอดทั้งปี ซึ่งจะเป็นแหล่งน้ำต้นทุนสนับสนุนการท่องเที่ยว การอุปโภค-บริโภคให้กับจังหวัดภูเก็ต รวมถึงการศึกษาการบรรเทาอุทกภัยในลุ่มน้ำควบคู่ไปกับการพัฒนาแหล่งน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ