รองนายกฯ “พล.อ.ประวิตร” ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำและการแก้ไขปัญหาภัยแล้งในพื้นที่จังหวัดลำปาง

0
6955

วันนี้ (18 มิถุนายน 2563) ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วย นายปรีชา จานทอง ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 2 นายสุรชาติ มาลาศรี ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ และผู้เกี่ยวข้อง ให้การต้อนรับ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในการเดินทางติดตามสถานการณ์น้ำและการแก้ไขปัญหาภัยแล้งตามมาตรการของกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ณ ศาลากลางจังหวัดลำปาง และโรงเรียนสบปราบพิทยาคม จังหวัดลำปาง

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในพื้นที่จังหวัดลำปางว่า ปัจจุบันอ่างเก็บน้ำในพื้นที่จังหวัดลำปาง จำนวน 134 แห่ง มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 139 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 28 ของความจุอ่างรวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ประมาณ 116 ล้าน ลบ.ม. มีแผนการจัดสรรน้ำฤดูฝนประมาณ 467 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันทำการจัดสรรน้ำไปแล้ว 18 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 4 ของแผนฯประกอบด้วย ด้านการอุปโภคบริโภค มีแผนจัดสรรน้ำ 24 ล้าน ลบ.ม. จัดสรรน้ำไปแล้ว 1 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 5 ของแผนฯ ด้านรักษาระบบนิเวศ มีแผนการจัดสรรน้ำ 186 ล้าน ลบ.ม. จัดสรรน้ำไปแล้ว 7 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 40 ของแผนฯ และด้านการเกษตร มีแผนการจัดสรรน้ำ 257 ล้าน ลบ.ม. จัดสรรน้ำไปแล้ว 10 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 55 ของแผนฯ

ในช่วงฤดูแล้งที่ผ่านมา จังหวัดลำปางมีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้ง จำนวน 589 ราย 26 หมู่บ้าน 13 ตำบล 8 อำเภอ (แม่พริก, เถิน, เกาะคา, งาว, วังเหนือ, เมืองปาน, แม่ทะ และเสริมงาม) กรมชลประทาน ให้ความช่วยเหลือด้วยการสนับสนุนเครื่องสูบน้ำ จำนวน 22 เครื่อง เพื่อสูบน้ำช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ตลอดจนนำรถบรรทุกน้ำนำน้ำสะอาดเข้าไปแจกจ่ายให้กับประชาชนอีกด้วย นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินโครงการจ้างแรงงานชลประทาน เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ปัจจุบันจ้างแรงงานในพื้นที่ไปแล้วกว่า 1,845 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 81 ของแผนฯ

สำหรับการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่จังหวัดลำปาง ทั้งสิ้น 11 โครงการ เป็นโครงการพระราชดำริ 7 โครงการ ประกอบด้วย อ่างเก็บน้ำแม่สุย อ่างเก็บน้ำห้วยแม่เคียน อ่างเก็บน้ำแม่จางตอนบน อ่างเก็บน้ำน้ำงาว อ่างเก็บน้ำแม่ปาน อ่างเก็บน้ำแม่บอม อ่างเก็บน้ำห้วยเย๊าะ อ่างเก็บน้ำแม่เชียงราย ประตูระบายน้ำบ้านวังยาว อ่างเก็บน้ำแม่ตีบ และโครงการปรับปรุงอ่างเก็บน้ำขนาดกลางอีก 30 แห่ง หากโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จจะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการเก็บกักน้ำได้อีกกว่า 80 ล้าน ลบ.ม. เพิ่มพื้นที่ชลประทานได้กว่า 71,000 ไร่