“รมช.ไชยา” ลุยโคราช มอบนโยบาย “ผลิตให้พอ ดูแลให้ดี พัฒนาให้มีคุณภาพ”ดันศูนย์ผลิตวัคซีนเป็นฮับ (Hub) ของภูมิภาค

0
36617

นายไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่มอบนโยบายและแนวทางการขับเคลื่อนงานด้านปศุสัตว์โดยมี นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ คณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ของกรมปศุสัตว์เข้าร่วม สำนักเทคโนโลยีชีวภัณฑ์สัตว์ กรมปศุสัตว์ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา และผ่านระบบ Zoom Meeting ว่า ในวันนี้ได้มอบนโยบายภายใต้แนวคิด “ผลิตให้พอ ดูแลให้ดี พัฒนาให้มีคุณภาพ”

หมายถึง 1) ผลิตให้พอ คือการศึกษาสถานการณ์ตลาด ทั้งความต้องการสินค้าและปริมาณสินค้าที่ผลิต เพื่อดูแลสินค้าให้เพียงพอต่อความต้องการของตลาด และรักษาเสถียรภาพด้านราคา เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร และผู้ประกอบการรายย่อย รวมทั้งเพื่อเป็นการรักษากลไกตลาดให้เกิดความเป็นธรรม ซึ่งใช้การวางแผนข้อมูลสารสนเทศ (Big data) ที่มีความถูกต้อง แม่นยำ ในการวิเคราะห์และเชื่อมโยงข้อมูลในการบูรณาการร่วมกันของภาคปศุสัตส์เพื่อประสิทธิภาพการทำงานอย่างสูงสุด

2) ดูแลให้ดี คือการใส่ใจดูแลในด้านการพัฒนาคุณภาพและสูตรอาหารสัตว์ให้เหมาะสม ควบคู่ไปกับการลดต้นทุนปัจจัยการผลิต โดยเน้นบูรณาการ และส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่ผลิตอาหารสัตว์ เพื่อนำมาใช้ในการเลี้ยงสัตว์ของตนเองและจำหน่ายไปยังพื้นที่อื่น ๆ เพื่อเพิ่มโอกาสการสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรเพิ่มเติมอีกด้วย และในด้านการดูแลคุณภาพชีวิตพี่น้องเกษตรกร ได้มีการจัดทำโครงการธนาคารโค-กระบือ เพื่อเกษตรกรตามพระราชดำริ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ขาดทุนทรัพย์ในการซื้อโคและกระบือ เพื่อใช้แรงงานแทนการใช้เครื่องจักร ซึ่งเป็นโครงการที่กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมปศุสัตว์ ให้ความสำคัญและมีการเดินหน้าทำงานอย่างต่อเนื่อง

และ 3) พัฒนาให้มีคุณภาพ คือการนำนวัตกรรม และเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์การพัฒนา แบ่งออกเป็น 1)พัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์ เริ่มจากการพัฒนาพันธุ์สัตว์  การแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ ตลอดจนการดูแลสินค้าให้ปลอดโรคได้การรับรองมาตรฐานสุขอนามัย  2)การพัฒนาระบบงานภายในกรม โดยส่งเสริมให้เป็น “ปศุสัตว์ดิจิทัล” ปรับขั้นตอนการทำงานในรูปแบบออนไลน์มากขึ้น อาทิ การอนุมัติ การออกใบอนุญาตต่าง ๆ เป็นต้น เพื่อให้เกิดความคล่องตัวและอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน รวมถึงการกระจายอํานาจจากส่วนกลางสู่ส่วนภูมิภาค

การมอบนโยบายให้กรมปศุสัตว์ในวันนี้ สอดรับนโยบาย “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” โดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี โดยฉพาะในขณะนี้ มีข้อร้องเรียนจากผู้ประกอบการรายย่อยที่ประสบปัญหาเกี่ยวกับระบบการผลิตที่ยังไม่ครบวงจร เทียบเท่ารายใหญ่ ซึ่งเป็นความท้าทายที่กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมปศุสัตว์จะต้องเร่งดำเนินการให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด สำหรับการเปิดตลาดสินค้าปศุสัตว์ไปยังประเทศคู่ค้าใหม่ๆ นับเป็นช่องทางการตลาดที่ต้องส่งเสริมเช่นกัน เพราะจะช่วยระบายผลผลิตด้านปศุสัตว์ในประเทศ ให้เกิดความสมดุลและสร้างรายได้แก่เกษตรกร โดยสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศคู่ค้า และในวันนี้มาตรวจเยี่ยมสำนักเทคโนโลยีชีวภัณฑ์สัตว์ โดยเฉพาะด้านการผลิตวัคซีน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นด้าน

บริหารจัดการโรคระบาด ซึ่งเตรียมให้การสนับสนุนและพัฒนาการผลิตวัคซีนมากยิ่งขึ้น เพื่อผลักดันให้เป็นฮับ (Hub) ศูนย์กลางการผลิตวัคซีนในภูมิภาคนี้ด้วยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ กล่าว

นอกจากนี้ กรณีการทำลายหมูเถื่อนจำนวน 161 ตู้คอนเทนเนอร์ที่อยู่ระหว่างดำเนินคดีนั้น ได้สั่งการให้กรมปศุสัตว์ประสานกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) และกรมศุลกากร ดำเนินการร่วมกันทันทีภายในสัปดาห์หน้า เพื่อสร้างความมั่นใจให้เกษตรกรและประชาชน ว่ากระทรวงเกษตรฯ ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาการลักลอบนำเข้าสินค้าปศุสัตว์ผิดกฎหมายอย่างจริงจัง

ด้านนายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า โรงงานผลิตวัคซีนสำหรับปศุสัตว์สำนักเทคโนโลยีชีวภัณฑ์สัตว์ กรมปศุสัตว์ เป็นหน่วยงานที่มีภารกิจหลักในการผลิตวัคซีนสัตว์เพื่อใช้ป้องกันและบำบัดโรคระบาดสัตว์ภายในประเทศ ปัจจุบันผลิตวัคซีนสัตว์จำนวน 14 ชนิด สารทดสอบโรคจำนวน 1 ชนิด โดยแบ่งเป็นวัคซีนสำหรับสุกร จำนวน 2 ชนิด วัคซีนสำหรับโคกระบือแพะแกะจำนวน 6 ชนิด วัคซีนสำหรับสัตว์ปีกจำนวน 6 ชนิด ซึ่งประโยชน์ที่ได้รับจากการผลิตวัคซีนโดยกรมปศุสัตว์ คือ สามารถสร้างภูมิคุ้มกันในระดับฝูงให้กับการเลี้ยงปศุสัตว์ ป้องกันการเกิดโรคระบาดในสัตว์ ลดความสูญเสียให้กับเกษตรกรและลดค่าใช้จ่ายในการควบคุมโรค และค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคซึ่งไม่สามารถประมาณมูลค่าความสูญเสียได้ นอกจากนั้นยังลดการนำเข้าวัคซีนได้ไม่น้อยกว่า 3,000 ล้านบาทต่อปี ทำให้เกิดความมั่นคงด้านการผลิตวัคซีนสัตว์ภายในประเทศไทย และเพิ่มโอกาสการส่งออกของสินค้าปศุสัตว์อีกด้วย

การมอบนโยบายในครั้งนี้ เป็นการเน้นย้ำภารกิจของกรมปศุสัตว์ ที่ครอบคลุมทั้งด้านการควบคุม การกำกับ การส่งเสริม การวิจัย การถ่ายทอดเทคโนโลยี และการพัฒนาเทคโนโลยีเกี่ยวกับการปศุสัตว์ รวมทั้งบริหารจัดการทรัพยากรพันธุกรรมและความหลากหลาย ทางชีวภาพด้านการปศุสัตว์ เพื่อให้มีปริมาณสัตว์เพียงพอ และมีมาตรฐานถูกสุขอนามัย ปราศจากโรค สารตกค้าง และสารปนเปื้อนมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม และสามารถแข่งขันได้ในระดับสากล

ในโอกาสนี้ รัฐมนตรีช่วยเกษตรฯ ได้เข้าเยี่ยมชมสหกรณ์โคนมท่าหลวง จำกัด อำเภอท่าหลวง จังหวัดลพบุรี พร้อมฟังบรรยายสรุปจากสหกรณ์โคนมท่าหลวงจำกัด และศูนย์วิจัยการผสมเทียมและเทคโนโลยีชีวภาพ สระบุรี ก่อนเข้าเยี่ยมชมฟาร์มเกษตรกรโคนมของสหกรณ์โคนมท่าหลวง จำกัด ต่อไป