รมช.มนัญญา ผุดอุทัยธานีโมเดล ปลดหนี้เกษตรกร
จังหวัดอุทัยธานี เป็นจังหวัดที่ประสบผลสำเร็จในการดำเนินโครงการจัดที่ดินทำกินให้กับชุมชนตามนโยบายรัฐบาล เพื่อแก้ไขปัญหาบุกรุกที่ป่าสงวนหวงห้ามของรัฐ โดยนำที่ดินในเขตพื้นที่ตำบลระบำ อำเภอลานสัก 3,239-2-39 ไร่ มาจัดสรรแบ่งให้ชาวบ้าน 486 ราย เข้าอยู่อาศัย และจัดเป็นแปลงเกษตรให้รายละ 4.5 ไร่ และส่งเสริมให้เกษตรกร ในพื้นที่รวมกลุ่มจดทะเบียนจัดตั้งเป็นสหกรณ์ปฏิรูปที่ดินระบำ จำกัด เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2558 ซึ่งทางคทช.จังหวัดอุทัยธานี ได้อนุญาตให้สหกรณ์ปฏิรูปที่ดินระบำ จำกัด เช่าที่ดินดังกล่าว พร้อมทั้งยกเว้นค่าเช่า 3 ปี เพื่อให้สหกรณ์บริหารจัดการ ในรูปแบบแปลงรวม ใช้ระบบสหกรณ์เข้ามาแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจและสังคมของเกษตรกรที่ได้รับการจัดสรรที่ดิน โดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางมามอบหนังสือสัญญาเช่าที่ดินให้กับสหกรณ์ปฏิรูปที่ดินระบำ จำกัด เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2559
ปัจจุบันพื้นที่ คทช.ตำบลระบำเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม พื้นที่ที่เคยเป็นดินลูกรัง แห้งแล้ง กลับพลิกฟื้นกลายเป็นพื้นที่เกษตรกรรมที่อุดมสมบูรณ์ และเป็นแหล่งสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร โดยมีสหกรณ์ปฏิรูปที่ดินระบำ จำกัด ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการตลาด การผลิต และการถ่ายทอดเทคโนโลยี รวมถึงให้เป็นที่พึ่งของเกษตรกรสมาชิก เพื่อให้เกษตรกรและชุมชนมีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์ เป็นหนึ่งในคณะอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ ภายใต้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ(คทช.) มีหน้าที่ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพให้แก่เกษตรกรที่อยู่อาศัยในพื้นที่โครงการ พร้อมทั้งสนับสนุนการดำเนินงานของสหกรณ์ปฏิรูปที่ดินระบำ จำกัด ทั้งในด้านการดำเนินธุรกิจและการบริหารจัดการผลผลิตให้กับเกษตรกร ในพื้นที่ตำบลระบำ ซึ่งพื้นที่ทำกินของเกษตรกร ได้มีการวางระบบระบบการผลิตรวมกันให้เป็นแปลงใหญ่ เพื่อลดต้นทุนปัจจัยการผลิต มีการบริหารจัดการผลผลิตร่วมกัน เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ
นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยนายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าการจัดที่ดินทำกินให้กับชุมชนพื้นที่ตำบลระบำ เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2562 ที่ผ่ามา พบว่าเกษตรกรส่วนใหญ่ทำการเกษตรผสมผสาน ทั้งปลูกพืชผัก หม่อนไหม พืชไร่ ทำประมงและเลี้ยงสัตว์ กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้ส่งเสริมให้สหกรณ์ปฏิรูปที่ดินระบำ จำกัด ใช้หลักตลาดนำการผลิต เป็นแนวทางในการส่งเสริมด้านการเกษตรให้กับสมาชิก
โอกาสนี้ รมช.เกษตรฯ ได้เยี่ยมชมแปลงเกษตรของสมาชิกสหกรณ์ปฏิรูปที่ดินระบำ จำกัด จำนวน 2 ราย ได้แก่ นางอมรรัตน์ ปัญญาสิทธิ์ ซึ่งก่อนที่จะเข้ามาร่วมโครงการนี้ เคยอยู่ในเขตอนุรักษ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง พืชที่ปลูกเสียหาย ได้ผลผลิตไม่เต็มที่ เพราะมีช้างป่าและสัตว์ป่าลงมากินผลผลิต ต่อมาได้ลงมาอยู่ในพื้นที่คทช. ลองปลูกบวบในพื้นที่ 1 ไร่ ในเวลา 45 วัน เก็บผลผลิตขายได้ 82,746 บาท ตอนนี้กำลังขยายการผลิตด้วยการทำผักกางมุ้ง และปลูกพืชผักรอบ ๆ บ้าน ทำให้มีชีวิตที่ดีขึ้น และมีรายได้เลี้ยงครอบครัว ทั้งรายได้รายวัน รายเดือนและรายปี มีเงินเก็บเล็ก ๆ น้อย ๆ สะสมไว้ลงทุนรอบหน้า
ส่วนนายวีรชาติ ช้างชุ่ม เรียนจบชั้น ป.6 เริ่มทำการเกษตรตั้งแต่ออกจากโรงเรียน แต่เดิมอาศัยอยู่ที่บ้านห้วยคต เป็นพื้นที่ป่า ไม่มีเอกสารสิทธิ์ ทำเกษตรโดยปลูกมันสำปะหลังกับข้าวโพด ใช้เวลา 10 เดือน ได้เงินไม่ถึง 10,000 บาท ยิ่งทำยิ่งเป็นหนี้เพิ่มขึ้น เมื่อได้ที่ดินในพื้นที่คทช. ตั้งแต่เดือนเมษายน 2562 เป็นโฉนดรวมของ ส.ป.ก. แม้จะขายสิทธิ์ไม่ได้ แต่สามารถทำกินไปจนชั่วลูกชั่วหลาน จึงหันมาปลูกผัก ทดลองปลูกมะระจีนผสมผสานกับพืชผักชนิดอื่น ๆ ในพื้นที่ 2 ไร่ ขุดสระ ใช้น้ำสปริงเกอร์ เพี่อเป็นการประหยัด และสารชีวภาพและปุ๋ยหมักบำรุงดิน ลงทุนเพียง 15,000 บาท ใช้เวลา 45 วันเก็บขายได้ 90,000 บาท ทำให้มีรายได้ที่มั่นคง แม้บางครั้งราคาพืชผลของพืชบางชนิดจะตก ก็ยังมีพืชชนิดอื่นมาทดแทนทำให้มีรายต่อเนื่องตลอดทั้งปี
สหกรณ์ปฏิรูปที่ดินระบำ จำกัด ได้เชื่อมโยงเครือข่ายกับสหกรณ์นิคมลานสัก จำกัด สนับสนุนเกษตรกรในพื้นที่คทช.ระบำปลูกผัก ตั้งแต่ต้นปี 2562 มีเกษตรกร 25 ราย หันมาทำแปลงผัก ปลูกบวบ แตงล้าน ถั่วฝักยาว แฟง ฟักทอง และกวางตุ้ง ใช้ระยะเวลา 3 เดือน เกษตรกรจะรวบรวมผักทุกชนิดส่งขายที่ตลาดสินค้าเกษตรของสหกรณ์นิคมลานสัก จำกัด ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ตั้งแต่ปี 2561 วงเงิน 1,983,000 บาท เพื่อเป็นจุดรวบรวมและจำหน่ายผลผลิตจากสมาชิกและเกษตรกรในชุมชนสู่ผู้บริโภคหรือพ่อค้า โดยสหกรณ์ทำหน้าที่ บริหารจัดการพื้นที่ และบริหารตลาดให้เกิดความยุติธรรมในการซื้อ-ขาย โดยเปิดขายทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00 – 16.00 น. ภายในตลาดมีเกษตรกรรายย่อย 15 รายนำผักจากแปลงของตนเองมาวางขาย และยังมีเกษตรกรอีกกว่า 60 ราย รวบรวมผักบรรจุใส่ถุงขนาดใหญ่มาขายส่งให้กับพ่อค้าและผู้บริโภค เบื้องต้น คาดว่าปริมาณผักที่จะจำหน่ายในตลาดแห่งนี้ ประมาณ 5 ตัน/วัน ในอนาคตทางสหกรณ์นิคมลานสัก จำกัด จะส่งเสริมให้สมาชิกทั้งสองสหกรณ์ปลูกผักได้มาตรฐาน GAP ทุกแปลง และจะพัฒนาแพคกิ้งให้สวยงาม น่าซื้อและคงความสดใหม่ของผักให้อยู่ยาวนาน รวมถึงจะเชื่อมโยงกับห้างโมเดินเทรดเพื่อส่งผักของสมาชิกสหกรณ์ไปจำหน่ายสู่ผู้บริโภค ความร่วมมือกันระหว่างสหกรณ์ปฏิรูปที่ดินระบำ จำกัด และสหกรณ์นิคมลานสัก จำกัด เป็นการสร้างเครือข่ายแบบพี่ช่วยน้อง ทั้งด้านการผลิตและการตลาด มีการจัดการระบบที่ดีและสร้างมาตรฐานให้ดี สามารถเพิ่มมูลค่าผลผลิตได้ อีกทั้งยังสร้างแรงจูงใจเกษตรกรในพื้นที่ว่า เมื่อปลูกมีที่ขายแน่นอน เนื่องจากมีตลาดสินค้าเกษตรของสหกรณ์ตั้งอยู่ในพื้นที่ ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรมีรายได้โดยใช้เวลาผลิตในระยะสั้น หากเกษตรกรปลูกพืชผักหมุนเวียน ก็จะมีรายได้ทุกวัน ทำให้มีเงินใช้จ่ายในครอบครัวและช่วยลดปัญหาเรื่องหนี้สินให้กับเกษตรกรได้อีกด้วย
ในการนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบนโยบายและเน้นเรื่องส่งเสริมการนำมาตรฐาน GAP มาใช้เป็นแนวทางในการผลิตพืชผักปลอดภัย พร้อมทั้งรณรงค์ให้เกษตรกรลดละการใช้สารเคมีทางการเกษตร และหันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์มากขึ้น เพื่อความปลอดภัยของเกษตรกรและผู้บริโภค และยกระดับการผลิตสินค้าเกษตรให้ได้มาตรฐานเพื่อเป็นที่ต้องการของตลาด และในอนาคตหากมีปริมาณผักมากพอ อาจเชื่อมโยงกับห้างโมเดิร์นเทรดเพื่อกระจาย ผักปลอดภัยสู่ผู้บริโภค ในนาม “ผักปลอดภัยอุทัยธานี”
“หลังจากที่นายกรัฐมนตรี (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) ได้มอบหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินให้แก่สหกรณ์ปฏิรูปที่ดินระบำ จำกัด อำเภอลานสัก จังหวัดอุทัยธานี ตั้งแต่ปี 2559 วันนี้ได้มาติดตามผลการดำเนินงานและเก็บรวบรวมความเป็น “อุทัยธานีโมเดล” ที่มีการส่งเสริมการผลิตแบบครบวงจร มีการรวมกลุ่มเกษตรกร ที่เข้มแข็ง ในตอนนี้พบว่าเกษตรกรมีความพร้อมในเรื่องของการผลิตที่ได้คุณภาพ และการเปิดตลาดครั้งนี้ก็ถือว่าเป็นการเปิดแห่งแรกที่จะมีการรวบรวมสินค้าเพื่อส่งต่อไปยังตลาดในกรุงเทพฯ ซึ่งตลาดสินค้าเกษตรจะช่วยให้เกษตรกรมีแหล่งจำหน่ายสินค้าในราคาที่เป็นธรรม ซึ่งหลังจากที่กระทรวงเกษตรฯ ได้ส่งเสริมสนับสนุนด้านการพัฒนาอาชีพให้กับสมาชิกสหกรณ์ จนถึงขณะนี้เกษตรกรสามารถช่วยเหลือตนเองได้ มีการรวมกลุ่มอย่างเข้มแข็ง ซึ่งภาครัฐเป็นเพียงผู้เริ่มต้น ความสามัคคีกลมเกลียวอยู่ที่สหกรณ์เป็นผู้ขับเคลื่อน ที่สำคัญ การดำเนินโครงการครั้งนี้จะขยายผลไปสู่การส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวให้กับพื้นที่อีกด้วย ซึ่งประชาชนทั่วไปสามารถเดินทางมาท่องเที่ยวในอำเภอลานสักแล้วจับจ่ายซื้อสินค้าเกษตรที่ดีมีคุณภาพในตลาดแห่งนี้ได้ ซึ่งในอนาคต จะมีการขยายอุทัยธานีโมเดลไปยังจังหวัดอื่นๆ เพื่อให้เกษตรกรทุกพื้นที่ได้มีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น ” นางสาวมนัญญา กล่าว
#AllnewsExpress #หนี้เกษตรกร #ปลดหนี้ #ปลูกผักปลอดสาร #อุทัยธานี