ดร.จูอะดี พงศ์มณีรัตน์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เป็นประธานพิธีเปิดโครงการเสริมสร้างความตระหนักในการใช้และแสดงเครื่องหมายรับรองมาตรฐาน (เครื่องหมาย Q) และระบบตรวจสอบรหัสรับรองมาตรฐาน เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่ผู้ผลิต ผู้ส่งออก หรือผู้นำเข้าสินค้าเกษตรกลุ่มเป้าหมาย สามารถเข้าถึงการใช้และแสดงเครื่องหมายรับรองมาตรฐานผ่านทางออนไลน์ พร้อมทั้งมอบสติ๊กเกอร์แสดงเครื่องหมาย Q ให้แก่เกษตรกรที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ณ โรงแรมคลาสสิก คามิโอ อยุธยา
ดร.จูอะดี เปิดเผยว่า มกอช. ได้ออกกฎกระทรวงเพื่อกำหนดให้สินค้าเกษตรเป็นมาตรฐานบังคับ จำนวน 7 มาตรฐาน และออกประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำหนดมาตรฐานทั่วไปสำหรับสินค้าเกษตรที่เกี่ยวกับ การผลิตพืชอาหาร คือ มาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืชอาหาร (มกษ.9001-2556) เพื่อยกระดับสินค้าเกษตรที่มีความสำคัญกับเศรษฐกิจของประเทศไทยให้เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ ทั้งนี้ ตามมาตรา 55 แห่งพระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. 2551 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ได้กำหนดให้ผู้ผลิต ผู้ส่งออก หรือผู้นำเข้าสินค้าเกษตรตามมาตรฐานบังคับ ต้องแสดงเครื่องหมายรับรองมาตรฐานบังคับ รวมถึงผู้ผลิตสินค้าเกษตรตามมาตรฐานทั่วไปที่มีความต้องการแสดงเครื่องหมายรับรองมาตรฐานทั่วไป จะต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวง ลักษณะของเครื่องหมาย การใช้เครื่องหมายและการแสดงเครื่องหมายรับรองมาตรฐานกับสินค้าเกษตร แต่ในปัจจุบันมีผู้ผลิต ผู้ส่งออก หรือผู้นำเข้าสินค้าเกษตรตามมาตรฐานบังคับ และผู้ผลิตตามมาตรฐานทั่วไปที่ได้รับใบรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร ยังขาดความรู้ความเข้าใจเรื่องการใช้และการแสดงเครื่องหมายรับรองมาตรฐานสำหรับสินค้าเกษตรตามกฎกระทรวงดังกล่าว
มกอช. จึงจัดทำโครงการเสริมสร้างความตระหนักในการใช้และแสดงเครื่องหมายรับรองมาตรฐาน และระบบตรวจสอบรหัสรับรองมาตรฐาน เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจให้แก่ผู้ผลิต ผู้ส่งออก หรือผู้นำเข้าสินค้าเกษตรกลุ่มเป้าหมาย ให้สามารถเข้าถึงการใช้และแสดงเครื่องหมายรับรองมาตรฐานผ่านทางออนไลน์ และสร้างแรงจูงใจในการแสดงเครื่องหมายรับรองมาตรฐานมากยิ่งขึ้น ซึ่งได้คัดเลือกเกษตรกรกลุ่มเป้าหมาย โดยต้องเป็นผู้ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืชอาหาร (มกษ.9001-2556) และได้รับการตรวจสารพิษตกค้างในสินค้าเกษตรจากห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO 17025 รวมทั้งได้สนับสนุนวัสดุนำร่องสำหรับใช้แสดงเครื่องหมายรับรองมาตรฐาน เพื่อเป็นการสร้างการรับรู้และความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคเลือกซื้อสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพได้มาตรฐานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
“มกอช. ได้เพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้จากการจำหน่ายสินค้าเกษตรที่มีมาตรฐานให้เกษตรกรกลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมโครงการ โดยการขยายทางเลือกในการจำหน่ายผลผลิตสินค้าเกษตรผ่านระบบออนไลน์ ดีจีทีฟาร์ม (DGT Farm) ซึ่งผู้บริโภคสามารถตามสอบแหล่งที่มาของสินค้าได้โดยการสแกนคิวอาร์โค้ด ระบบตามสอบสินค้าเกษตรและอาหาร (QR Trace) โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 มีเกษตรกรกลุ่มเป้าหมายจากหลายจังหวัดทั่วประเทศ เข้าร่วมโครงการ จำนวนทั้งสิ้น 70 ราย โดยประกอบด้วยสินค้าเกษตรหลายชนิด เช่น เมล่อน ส้มโอ สับปะรด มังคุด อินทผาลัม กล้วยน้ำว้า กล้วยหอมเขียว แตงโม มะพร้าวน้ำหอม เป็นต้น” ดร.จูอะดี กล่าว
นอกจากนี้ เลขาธิการ มกอช. พร้อมคณะ ได้ลงพื้นที่เยี่ยมชมแปลง นาวิต้าเมล่อนฟาร์ม ตำบลบ้านเพลง อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งได้รับการคัดเลือกให้เป็นแปลงต้นแบบในการปฏิบัติตามมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืชอาหาร (มกษ.9001-2556) และมีผลตรวจสารพิษตกค้างในสินค้าเกษตรปลอดภัยตามที่มาตรฐานกำหนด รวมทั้งสามารถแสดงเครื่องหมายรับรองมาตรฐาน (เครื่องหมาย Q) ได้ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด โดยนาวิต้าเมล่อนฟาร์มเน้นการผลิตเมล่อนคุณภาพสูง มีการใช้ Sensors และ Controller ในการควบคุมการให้น้ำและวัดค่าต่างๆ ในการปลูกเพื่อความแม่นยำ โดยจำหน่ายให้กับห้างสรรพสินค้าชั้นนำ ส่งออก และจำหน่ายแบบออนไลน์ให้ลูกค้าจองก่อนเก็บเกี่ยวจากต้น ทำให้ลูกค้าได้เมล่อนจากต้นที่สมบูรณ์ที่สุดส่งตรงจากเกษตรกรถึงผู้บริโภคโดยตรง โดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง