มกอช. จับมือ กรมประมง เร่งขับเคลื่อนเกษตรแปลงใหญ่ (กุ้งก้ามกราม) อบรมความรู้เกษตรกรกาญจนบุรี-สุพรรณฯ ยกระดับฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำได้มาตรฐาน GAP พร้อมผลิตสินค้าสัตว์น้ำปลอดภัยสู่ผู้บริโภค
ดร.จูอะดี พงศ์มณีรัตน์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีนโยบายการเกษตรแบบแปลงใหญ่ โดยส่งเสริมการรวมกลุ่มของเกษตรกรรายย่อยในการวางระบบการผลิตและการบริหารจัดการในพื้นที่แปลงใหญ่ให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการผลิตสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพและมาตรฐานได้ในต้นทุนที่ต่ำลง มีรายได้เพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ สินค้าสัตว์น้ำ เป็นสินค้าอีประเภทหนึ่งที่ต้องการพัฒนาและยกระดับฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำให้มีคุณภาพได้มาตรฐาน โดยมีกระบวนการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ถูกต้องเหมาะสม ไม่กระทบต่อระบบนิเวศน์และความสมบูรณ์ของทรัพยากรสัตว์น้ำในธรรมชาติ เพื่อให้เกษตรกรได้รับการรับรองมาตรฐานฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ดี (GAP)
ดังนั้น มกอช. ร่วมกับกรมประมง ได้ดำเนินงานยกระดับการผลิตสินค้าสัตว์น้ำให้เข้าสู่ระบบมาตรฐาน โดยร่วมกันจัดทำมาตรฐานสินค้าเกษตร (มกษ.) เรื่อง การปฏิบัติทางการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ดีสำหรับฟาร์มเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่อการบริโภค ที่มีเนื้อหาส่วนใหญ่เป็นไปตามมาตรฐาน GAP กรมประมง และเพิ่มเติมข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อมตามความเหมาะสม เพื่อบูรณาการด้านมาตรฐาน GAP ฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของประเทศให้เป็นมาตรฐานเดียว รวมถึงส่งเสริมและเป็นทางเลือกให้เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำโดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อยได้เข้าสู่ระบบมาตรฐาน โดยมีประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตร:การปฏิบัติทางการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ดีสำหรับฟาร์มเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่อการบริโภค ลงวันที่ 8 มิถุนายน 2563 เพื่อทดแทน GAP กรมประมง
มกอช. ในฐานะที่เป็นหน่วยงานกลางด้านมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารของประเทศไทย จึงได้จัดทำโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการมาตรฐานสินค้าเกษตร (มกษ.) เรื่อง GAP ฟาร์มเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่อการบริโภคสำหรับเกษตรกรฟาร์มเลี้ยงสัตว์น้ำต้นแบบ ภายใต้นโยบายการเกษตรแบบแปลงใหญ่ให้แก่เกษตรกรฟาร์มเลี้ยงสัตว์น้ำต้นแบบที่อยู่ในโครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ (กุ้งก้ามกราม) กรมประมง จำนวน 2 แปลง ในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี และสุพรรณบุรี จำนวน 120 คน โดยมีหัวข้อการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการฯ ได้แก่ มาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง การปฏิบัติทางการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ดีสำหรับฟาร์มเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่อการบริโภค (มกษ. 7436-2563) การรับรองแบบกลุ่ม การเตรียมความพร้อมของเกษตรกรเข้าสู่มาตรฐาน GAP ฟาร์มเลี้ยงสัตว์น้ำ เพื่อการบริโภค การดูแลรักษาสุขภาพสัตว์น้ำ การใช้ยาสัตว์และสารเคมีเพื่อป้องกัน และรักษาโรคสัตว์น้ำ และเว็บไซต์สินค้าเกษตรมาตรฐานออนไลน์ www.DGTFarm.com
“อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า การฝึกอบรมครั้งนี้ จะช่วยให้เกษตรกรมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับข้อกำหนดตามมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง GAP สำหรับฟาร์มเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่อการบริโภค (กุ้งก้ามกราม) และมีความพร้อมในการยื่นขอการรับรองตามมาตรฐานสินค้าเกษตร เพื่อผลิตสินค้าสัตว์น้ำปลอดภัยสู่ผู้บริโภคต่อไป”เลขาธิการ มกอช. กล่าว