พล.อ.ประยุทธ์ฯ ลงเยี่ยมผู้ประสบอุทกภัยเมืองนครศรีฯ ย้ำทุกฝ่ายเฝ้าระวังตลอด 24 ชม.

0
10926

วันนี้ (7 ธันวาคม 2563) พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำ และเยี่ยมเยียนพร้อมมอบเครื่องอุปโภค บริโภค ให้แก่ประชาชนผู้ประสบภัยน้ำท่วม รวมทั้งสร้างขวัญกำลังใจแก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ โดยมี นายประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีกรมชลประทาน และผู้บริหารจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมให้การต้อนรับ ณ ศูนย์ศิลปาชีพบ้านเนินธัมมัง ตำบลแม่เจ้าอยู่หัว อำเภอเชียรใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช

นายประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ล่าสุดระดับน้ำเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่องในหลายจังหวัด จากรายงานของกรมอุตุนิยมวิทยาที่คาดการณ์ว่าฝนจะลดลงในอีก 1 สัปดาห์ ซึ่งได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งระดมเครื่องจักร เครื่องมือระบายน้ำที่ท่วมขัง ให้ลดลงโดยเร็วที่สุด ก่อนจะมีฝนตกเพิ่มขึ้นอีกครั้งในช่วงวันที่ 12-14 ธ.ค. นี้ ปัจจุบัน (7 ธ.ค. 63) ยังคงมีพื้นที่ประสบภัยคงเหลืออีก 5 จังหวัด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ตรัง พัทลุง และสงขลา

สำหรับที่จังหวัดนครศรีธรรมราช สถานการณ์ปัจจุบัน มีพื้นที่ประสบอุทกภัยทั้งสิ้น 18 อำเภอ ได้แก่ อ.เมือง อ.พระพรหม อ.หัวไทร อ.ชะอวด อ.เชียรใหญ่ อ.เฉลิมพระเกียรติ อ.ท่าศาลา อ.ปากพนัง อ.ทุ่งสง อ.จุฬาภรณ์ อ.ร่อนพิบูลย์ อ.ทุ่งใหญ่ อ.ฉวาง อ.พรหมคีรี อ.ถ้ำพรรณา อ.ช้างกลาง อ.บางขัน และอ.นาบอน แนวโน้มสถานการณ์น้ำลดลงอย่างต่อเนื่องในบางพื้นที่ ด้านคลองท่าดี สถานี x.203 บ้านนาป่า อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช มีระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 89 เซนติเมตร แนวโน้มลดลง สถานี x.285 สนามหน้าเมือง อ.เมืองนครศรีธรรมราช มีระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 1.27 เมตร แนวโน้มลดลงส่วนที่แม่น้ำตาปี สถานี x.195 บ้านนกโพธิ์ อ.ฉวาง จ.นครศรีธรรมราช มีระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 3.85 เมตร แนวโน้มลดลง

ทั้งนี้ กรมชลประทาน ยังคงปักหลักให้ความช่วยเหลือ โดยติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 46 เครื่อง แบ่งเป็น อ.เมือง 8 เครื่อง อ.ชะอวด 5 เครื่อง อ.ปากพนัง 26 เครื่อง อ.เชียรใหญ่ 4 เครื่อง และอ.ทุ่งใหญ่ 3 เครื่อง และได้ติดตั้งเครื่องผลักน้ำรวม 44 ครื่อง ในเขตพื้นที่เทศบาลนครศรีธรรมราช อ.เมือง 20 เครื่อง อ.เชียรใหญ่ 2 เครื่อง และในเขต อ.ปากพนัง 22 เครื่อง


พล.อ.ประยุทธ์ฯ ได้กำชับหน่วยงานที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ ให้เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อแจ้งเตือนประชาชนและปรับแผนบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ ทั้งนี้ ในส่วนของการให้การช่วยเหลือประชาชนจะต้องเป็นไปในรูปแบบบูรณาการทุกภาคส่วน เพื่อช่วยเหลือประชาชนให้ผ่านพ้นวิกฤตน้ำท่วมโดยเร็ว รวมทั้งกำหนดมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบภายหลังจากน้ำลดด้วย