ฝนตกกระจายภาคอีสานกลาง ส่งผลดีน้ำไหลเข้าอ่างฯ วอนเกษตรกรใช้น้ำฝนเป็นหลัก

0
6752

อีสานกลาง ได้ฝนช่วยน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำบ้างแล้ว วอนเกษตรกรใช้น้ำฝนทำการเพาะปลูกเป็นหลัก เน้นเก็บกักน้ำให้ได้มากที่สุด ลดเสี่ยงขาดแคลนน้ำในอนาคต

นายศักดิ์ศิริ อยู่สุข ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 6 เปิดเผยว่า ตามที่ ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทานได้วางมาตรการบริหารจัดการน้ำฤดูฝนปี 2563 โดยให้เน้นการกักเก็บน้ำเพื่อจัดสรรน้ำให้เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคเป็นหลัก ซึ่งในระยะนี้พื้นที่ภาคอีสานตอนกลางมีฝนตกลงมาหลายพื้นที่ ส่งผลดีทำให้มีน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง ตั้งแต่วันที่ ตั้งแต่วันที่ 18-27 พฤษภาคม 2563 ประมาณ 46.54 ล้านลูกบาศก์เมตร ทำให้เขื่อนขนาดใหญ่ 3 แห่ง มีปริมาณน้ำรวมกัน 1,027 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 22 ของความจุอ่างฯ มีน้ำไหลเข้าอ่างฯสะสม(ระหว่าง 18-27 พ.ค. 63) รวม 34.26 ล้าน ลบ.ม. โดยที่เขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น มีปริมาณน้ำไหลเข้าประมาณ 11.35  ล้าน ลบ.ม. เขื่อนลำปาว จังหวัดกาฬสินธุ์ มีปริมาณน้ำไหลเข้า 22.03ล้าน ลบ.ม. และเขื่อนจุฬาภรณ์ จังหวัดชัยภูมิ มีน้ำไหลเข้า 0.88 ล้าน ลบ.ม.

สำหรับปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 69 แห่งในพื้นที่ 5 จังหวัด(ชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม และร้อยเอ็ด วันนี้ (27 พ.ค.63)มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 109 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 25 ของความจุอ่างฯรวมกัน มีน้ำไหลเข้าสะสม(18-27 พ.ค. 63) รวม 12.28  ล้าน ลบ.ม. จะเห็นได้ว่าฝนที่ตกลงมาในพื้นที่อีสานกลางทั้ง 5 จังหวัด ยังไม่มีรายงานพื้นที่ถูกน้ำท่วมขังได้รับความเสียหาย มีเพียงแค่พื้นที่ที่มีน้ำขังรอการระบาย เช่นเมื่อวันที่ 25 พ.ค. 63 ที่ผ่านมาได้เกิดฝนตกหนักในเขตเทศบาลนครขอนแก่น ส่งผลให้เกิตน้ำขังรอการระบายในพื้นที่ลุ่มต่ำ สำนักงานชลประทานที่ 6 ได้ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์และเร่งสูบน้ำระบายออกจากพื้นที่ลุ่มต่ำที่ถูกน้ำท่วมขัง จนสถานการณ์กลับเข้าสู่สภาวะปกติภายใน 2 ชั่วโมง โดยสำนักงานชลประทานที่ 6 ได้นำเครื่องสูบน้ำเข้าไปติดตั้งในพื้นที่เทศบาลนครขอนแก่น ซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงแล้วจำนวน 11 เครื่อง ซึ่งพร้อมเดินเครื่องสูบน้ำได้ทันทีที่เกิดน้ำท่วมขัง

 อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในระยะนี้กรมอุตุนิยมวิทยาจะประกาศเข้าสู่ฤดูฝนแล้ว อีกทั้งในหลายพื้นที่มีฝนตกลงมาพอสมควร แต่ประมาณเดือนมิถุนายนไปจนถึงเดือนกรกฎาคม ฝนอาจจะน้อยหรือเกิดภาวะทิ้งช่วงได้ จึงขอให้เกษตรกรเริ่มทำการเพาะปลูกเมื่อเห็นว่ามีปริมาณฝนตกชุกหรือมีปริมาณน้ำเพียงพอสำหรับทำการเกษตร โดยขอให้ใช้น้ำฝนเป็นหลัก ส่วนน้ำต้นทุนที่มีอยู่หากมีปริมาณเพียงพอเหมาะสมก็จะสนับสนุนการเกษตรเพื่อเสริมฝนกรณีฝนทิ้งช่วง และจะสำรองไว้ใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศน์ให้เพียงพอจนถึงสิ้นฤดูแล้ง 63/64