นายสัญญา แสงพุ่มพงษ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า หลังจากที่กรมชลประทานตรวจพบแนวรูรั่วที่มีน้ำซึมบริเวณใต้ฐานเขื่อนห้วยยาง เมื่อกลางดึกของคืนวันที่ 21 ตุลาคม 2563 ในเบื้องต้นได้ติดตั้งกาลักน้ำ เพื่อช่วยระบายน้ำออกจากเขื่อนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม พร้อมนำเครื่องมือเข้าดำเนินการเจาะลงไปในชั้นผิวดินบริเวณจุดที่พบการรั่วซึม เพื่อนำชั้นดินขึ้นมาทำการทดสอบวิเคราะห์หาสาเหตุ จนกระทั่งวันที่ 26 ตุลาคม 2563 ทีมสำรวจด้านวิศวกรรมชลประทานและธรณีวิทยา นำโดย ดร.กัมปนาท ขวัญศิริกุล ผู้อำนวยการส่วนวิศวกรรมธรณี กรมชลประทาน ได้ทำการทดสอบซีเมนต์ผสมโซเดียมซิลิเกตอัดฉีดลงไปในรูดังกล่าว เพื่อยับยั้งการไหลของน้ำผ่านตัวเขื่อน พร้อมทั้งถมคันดินด้านท้ายน้ำรอบจุดรั่วเพื่อควบคุมแรงดันและป้องกันการกัดเซาะ ผลปรากฏว่า ปริมาณน้ำที่รั่วออกมีปริมาณลดลง และสามารถลดอัตราการรั่วซึมผ่านตัวเขื่อนได้ดี ปัจจุบัน (30 ต.ค.63) ได้ทำการอัดฉีดน้ำปูนและสารเคมีแล้ว 23 หลุมเจาะ และไม่มีอัตราการรั่วซึมแล้ว
สำหรับสถานการณ์น้ำในเขื่อนห้วยยาง ปัจจุบันมีปริมาณน้ำในอ่างฯ 45.780 ล้านลูกบาศก์เมตร ระบายน้ำผ่านท่อกาลักน้ำ อาคารท่อระบายน้ำลงลำน้ำเดิมและท่อส่งน้ำ 1วันที่ผ่านมารวม 0.848 ล้านลูกบาศก์เมตร ระดับน้ำลดลง 4 เซนติเมตร มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯ 0.348 ล้านลูกบาศก์เมตร และในพื้นที่ท้ายอ่างฯ ไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด
ด้านความปลอดภัยของตัวเขื่อน บริเวณสันเขื่อน ลาดเขื่อน และฐานเขื่อน ไม่พบหลุมยุบและการรั่วซึมที่ผิดปกติในจุดอื่นเพิ่มเติม ทั้งนี้ กรมชลประทาน ยังเตรียมความพร้อมเครื่องจักรเครื่องมือไว้สำหรับปฏิบัติงานซ่อมแซมส่วนอื่นต่อไป