นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะอนุกรรมาธิการศึกษาผลกระทบด้านการเกษตรและพันธุ์พืชเพื่อให้ข้อมูล ข้อเท็จจริง ข้อคิดเห็นในประเด็นผลกระทบด้านการเกษตรกรรมจากการเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก(CPTPP) เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2563 ณ ห้องประชุมคณะกรรมาธิการ(สผ.) 419 อาคารรัฐสภา สภาเกษตรกรแห่งชาติได้ศึกษาเนื้อหาในความตกลง CPTPP ตลอดจนศักยภาพเงื่อนไขความพร้อมของภาคส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเกษตรกรและภาคเกษตรกรรมของประเทศไทยยิ่งมีความห่วงกังวล หากรัฐบาลจะตัดสินใจเข้าเป็นภาคีสมาชิก เนื่องจากมีแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดผลกระทบเชิงลบอย่างกว้างขวางต่อภาคเกษตร และแน่นอนเกษตรกรรายย่อยที่ยากจนมีความด้อยโอกาสในด้านต่างๆ รวมทั้งผลกระทบต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ในภาคส่วนที่เกี่ยวข้องตลอดจนความหลากหลายทางชีวภาพ การพึ่งพาตนเองในด้านพันธุ์พืชส่งผลไปยังความมั่นคงด้านอาหาร เนื่องจากความตกลง CPTPP มีข้อบัญญัติว่าให้ประเทศสมาชิกต้องเข้าร่วมอนุสัญญา UPOV 1991 ซึ่งการเข้าร่วมจะส่งผลให้ไทยต้องปรับปรุงพ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ.2542 ให้สอดคล้องซึ่งอาจส่งผลกระทบถึงอธิปไตยคนในชาติด้วย
ทั้งนี้ สภาเกษตรกรแห่งชาติมีความเห็นว่าความตกลง CPTPP มีขอบเขตกว้างขวางมากถึง 30 เรื่อง/ข้อบท และประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับยังไม่ชัดเจน นอกจากนี้ประเทศสมาชิกความตกลงฯ 11 ประเทศ มีเพียงเม็กซิโกกับแคนาดาเท่านั้นที่ยังไม่เปิดเสรีทางเศรษฐกิจกับประเทศไทย นอกนั้น 9 ประเทศล้วนเปิดเสรีทางเศรษฐกิจกับประเทศไทยภายใต้กรอบความตกลงต่างๆไปก่อนหน้าแล้วทั้งสิ้น (กดอ่านข้อมูล : https://bit.ly/3je8fqb)
“รัฐบาลไม่ควรรีบเร่งจนขาดการพิจารณาอย่างรอบคอบ ละเอียด รอบด้าน และต้องมีมาตรการเพื่อสร้างเสริมศักยภาพเป็นเงื่อนไขความพร้อมของเกษตรกรกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และดำเนินการให้เห็นผลเป็นรูปธรรมเป็นเบื้องต้นก่อน ถึงเวลานั้นจะเข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิกภายหลังเพื่อให้เกษตรกร ประชาชน และประเทศชาติได้สามารถเข้าถึงและได้รับผลประโยชน์จากความตกลง CPTPP ได้อย่างเต็มที่ในวันที่เข้าเป็นภาคีสมาชิกก็ไม่สายเกินไป” นายประพัฒน์ กล่าว