น้ำในอ่างฯยังน้อย วอนใช้สอยอย่างประหยัด

0
5811

สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศ ยังคงมีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อย ในขณะที่ยังต้องส่งน้ำตามแผนการจัดสรรน้ำ เพื่อสนับสนุนน้ำสำหรับอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศ แม้ว่าในระยะนี้จะมีฝนตกลงมาบ้าง   แต่ปริมาณน้ำที่ไหลลงอ่างฯ ยังคงมีน้อย วอนทุกฝ่ายช่วยกันประหยัด

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ในฐานะโฆษกกรมชลประทาน กล่าวว่า สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศ ปัจจุบัน(9 เม.ย. 63) มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกันประมาณ 35,599 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 50 ของความจุอ่างฯ เป็นน้ำใช้การได้ประมาณ12,270 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 9,087 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 37 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันประมาณ 2,391ล้าน ลบ.ม. ด้านผลการจัดสรรน้ำฤดูแล้งทั้งประเทศปัจจุบัน (9 เม.ย. 63) มีการใช้น้ำไปแล้ว 15,070 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 85 ของแผนจัดสรรน้ำฯ เฉพาะในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการใช้น้ำไปแล้ว 4,046ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 90 ของแผนจัดสรรน้ำฯที่วางไว้

อ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำใช้การได้น้อยกว่าร้อยละ 30 ของความจุอ่าง มีจำนวน 21 แห่ง ได้แก่ เขื่อนภูมิพล
จ.ตาก เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์, เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล เขื่อนแม่กวงอุดมธารา จ.เชียงใหม่, เขื่อนแม่มอกจ.ลำปาง, เขื่อนห้วยหลวง จ.อุดรธานี เขื่อนจุฬาภรณ์ จ.ชัยภูมิ เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น เขื่อนลำตะคอง เขื่อนลำพระเพลิง เขื่อนมูลบน เขื่อนลำแชะ จ.นครราชสีมา, เขื่อนลำนางรอง จ.บุรีรัมย์, เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี,เขื่อนทับเสลา จ.อุทัยธานี, เขื่อนกระเสียว จ.สุพรรณบุรี, เขื่อนขุนด่านปราการชล จ.นครนายก, เขื่อนคลองสียัดจ.ฉะเชิงเทรา,
เขื่อนบางพระ จ.ชลบุรี, เขื่อนหนองปลาไหล และเขื่อนประแสร์ จ.ระยอง

สำหรับแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ปี 2563 ได้วางแผนเพาะปลูกข้าวนาปรังทั้งประเทศ 2.31 ล้านไร่ปัจจุบัน(ข้อมูล ณ วันที่ 8 เม.ย. 63)มีการเพาะทำนาปรังไปแล้ว 4.20 ล้านไร่ เกินแผนฯไปแล้วถึงร้อยละ 82 มีการเก็บเกี่ยวแล้ว 2.28 ล้านไร่ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยาไม่มีแผนการเพาะปลูกข้าวนาปรังเนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนมีไม่เพียงพอต่อการสนับสนุนด้านการเกษตร แต่จากการสำรวจพบว่ามีการทำนาปรังไปแล้วประมาณ 1.98 ล้านไร่ เก็บเกี่ยวแล้ว 1.68 ล้านไร่ ส่วนใหญ่ใช้น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติในพื้นที่ของตนเองในการเพาะปลูก

กรมชลประทาน ได้ให้โครงการชลประทานทุกพื้นที่ บริหารจัดการน้ำในแต่ละพื้นที่ให้เป็นไปตามแผน
การจัดสรรน้ำที่วางไว้ พร้อมทั้งจัดเตรียมเครื่องจักร-เครื่องมือ ให้สามารถพร้อมใช้งานได้อยู่เสมอ กำจัดวัชพืชไม่ให้กีดขวางทางน้ำ รวมถึงตรวจสอบระบบและอาคารชลประทาน ให้สามารถรองรับสถานการณ์น้ำได้อย่างเต็มศักยภาพ นอกจากนี้ ยังบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานในท้องที่ ประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำและการดำเนินงานตามสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้น ให้ประชาชนรับทราบและตระหนักถึงคุณค่าของน้ำอย่างต่อเนื่อง