นายกสมาคมสัตวแพทย์ควบคุมฟาร์มสุกรไทย แนะผู้บริโภคหากพบเนื้อหมูที่มีฝีหนองปนเปื้อนหรือเข็มปนเปื้อน ให้ตัดเนื้อส่วนนั้นทิ้ง ย้ำควรเลือกซื้อจากผู้ผลิตและแหล่งจำหน่ายที่ได้มาตรฐาน มีตราสัญลักษณ์ “ปศุสัตว์ OK” ตอกย้ำความปลอดภัย
ผศ.น.สพ.ดร. สุเจตน์ ชื่นชม นายกสมาคมสัตวแพทย์ควบคุมฟาร์มสุกรไทย เปิดเผยว่า ฝีหนอง ที่ผู้บริโภคพบในเนื้อหมู ไม่ใช่โรค โดยเกิดขึ้นจากการฉีดวัคซีนในกระบวนการการเลี้ยงหมูที่ต้องมีการควบคุมป้องกันโรค เช่น การทำวัคซีน หรือการให้ยารักษา ซึ่งจะฉีดที่บริเวณคอ หากบริเวณที่ฉีดยาหรือใช้อุปกรณ์ที่ไม่สะอาด ทำให้มีการปนเปื้อนของเชื้อโรคเข้าไป จึงทำให้เกิดเป็นฝีหนอง ดังนั้น “ฝีหนองจึงไม่ใช่โรค ไม่ติดต่อสู่ผู้บริโภค” หากสังเกตพบฝีหนองในชิ้นเนื้อให้ทิ้งไป ไม่แนะนำให้บริโภค
“ฝีหนอง ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าจากผิวด้านนอก บางทีอาจมีขนาดเล็ก หากไม่สไลด์หรือชำแหละชิ้นเนื้อ จะมองไม่เห็นและไม่ทราบได้ว่ามีฝีหนอง ซึ่งขณะนี้วงการเลี้ยงหมูกำลังศึกษาหางานวิจัยที่จะสามารถสแกนหาฝีหนองได้ ฉะนั้นทางแก้ต้องเริ่มที่ฟาร์มโดยขอความร่วมมือจากฟาร์ม ซึ่งในกระบวนการที่ต้องใช้เข็ม อุปกรณ์ต้องสะอาด มีวิธีการฉีดที่ถูกต้อง หากเป็นฟาร์มทั่วไปที่ไม่ได้มีโรงฆ่าหรือโรงแปรรูป ปัญหานี้อาจจะยังไม่เห็น แต่หากเป็นฟาร์มที่ทำโรงแปรรูปที่เปลี่ยนจากหมูมีชีวิตมาเป็นเนื้อหมู ในขั้นตอนการชำแหละ จะมีการตรวจสอบคุณภาพสินค้าก่อนถึงมือผู้บริโภค” ผศ.น.สพ.ดร. สุเจตน์ กล่าว
ผศ.น.สพ.ดร. สุเจตน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนเรื่องเข็มที่พบในคอหมู เกิดจากกระบวนการฉีดยาที่คอหมูแล้ว เข็มหักระหว่างการฉีด ดังนั้น บริเวณคอหมูจึงมีโอกาสที่จะพบเข็มได้ ซึ่งที่ผ่านมามีการเทคโนโลยีการฉีดแบบไร้เข็ม (needle-free jet injection) หรือ วิธีใช้แรงดันในการทำวัคซีนเข้าไปในตัวสัตว์โดยไม่ใช้เข็ม (Needleless) โดยหลักการใช้แรงดันผ่านรูเล็กๆ หลายรู เพื่อส่งยาเข้าไปในตัวสัตว์ ถือเป็นอีกวิธีการในการลดปัญหาเรื่องเข็ม ส่วนผู้บริโภคต้องสังเกตชิ้นเนื้อในส่วนคอให้ดีก่อนการซื้อและการบริโภค เน้นซื้อจากผู้ผลิตที่มีมาตรฐาน เพราะมีกระบวนการตรวจสอบป้องกันไม่ให้มีการตกค้างของเข็ม และมีเครื่องสแกนโลหะทำให้รู้ว่ามีเข็มหรือไม่ รวมทั้งในการเลือกซื้อเนื้อหมูโดยเฉพาะชิ้นส่วนตรงคอหมู ควรนำมาตัดชำแหละหรือหั่นให้เป็นชิ้นบางๆ เพื่อลดความเสี่ยงทั้งเข็มและฝีหนอง
“ปัญหาเหล่านี้แก้ไขได้โดยเริ่มจากต้นน้ำในระดับฟาร์ม ซึ่งเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูมีส่วนสำคัญในการป้องกันเรื่องนี้ ฟาร์มต้องมีการพัฒนาหรือปรับปรุงกระบวนการโดยเฉพาะการฉีดยาและวัคซีน ที่ต้องสะอาดและระมัดระวัง เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดฝีหนองหรือมีเข็มตกค้าง ที่สำคัญควรเน้นกระบวนการเลี้ยงที่ดี สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมทำให้หมูเครียดน้อยลง เลี้ยงหมูให้สุขภาพดีขึ้น โดยให้พื้นที่ต่อตัวมากขึ้น โอกาสที่หมูจะป่วยจึงน้อยลง ทำให้ใช้ยาลดลงตามไปด้วย ส่วนผู้บริโภคควรเลือกซื้อเนื้อหมูจากผู้ผลิตและแหล่งที่เชื่อถือได้ มีตราสัญลักษณ์ “ปศุสัตว์ OK” ช่วยตอกย้ำความปลอดภัยของเนื้อหมู และยังเป็นการหลีกเลี่ยงเนื้อหมูที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือหมูเถื่อนที่อาจมีการจำหน่ายปะปนในกลุ่มผู้ค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน โดยเฉพาะในช่วงตรุษจีนที่จะถึงนี้ซึ่งมีการใช้หมูในการไหว้ด้วย ยิ่งต้องให้ความสำคัญกับการเลือกซื้อเนื้อหมูเพื่อความปลอดภัย” ผศ.น.สพ.ดร. สุเจตน์ กล่าวทิ้งท้าย
คลิกชมคลิป VDO >>https://youtu.be/08LQKbQi1D8