ดร. ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย นายสายันต์ ตันพานิช รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนาด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ ลงพื้นที่มหาวิทยาลัยแพะ จังหวัดกระบี่ขับเคลื่อน Model แพะใน จ.กระบี่ และแพะในพื้นที่ภาคใต้ ขยายผลสำเร็จผ่านงานวิจัยเพื่อความยั่งยืน โดยได้นำขนแพะมาสกัดเป็นน้ำหอม ครั้งแรกของประเทศไทย โดยมี นายชวน ภูเก้าล้วน ประธานกรรมการบริษัท ศรีผ่องพานิช จำกัด เจ้าของมหาวิทยาลัยแพะนานาชาติ ศรีผ่องฟาร์ม อ.เมือง จ.กระบี่ ให้การต้อนรับ
ดร.ขนิษฐา ชวนะนรศรษฐ์ นักวิจัย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร, วว. กล่าวว่า ได้ทำการวิจัยโดยนำนวัตกรรมการสกัดขนแพะมาพัฒนาเป็นน้ำหอม เนื่องจากแพะมีกลิ่นเฉพาะตัว มีความโดดเด่น ซับซ้อนและลอกเลียนแบบยาก อีกทั้งแพะเมื่อชำแหละเอาเนื้อแล้วต้องทิ้งขน จึงได้ศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการสกัดน้ำมันจากขนแพะผลิตเป็นน้ำหอม ขนแพะ มีคุณสมบัติพิเศษ มีกลิ่นฉุนแรง แต่ในความฉุนนั้นมีกลิ่นที่เฉพาะตัวที่สามารถนำมารังสรรค์เป็นน้ำหอมที่มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวและลอกเลียนแบบยาก อีกทั้งได้ผสมผสานกับน้ำหอมจากดอกไม้ ทำให้น้ำหอมจากขนแพะมีความละมุนขึ้น มีกลิ่นเฉพาะตัว และนักวิจัยยังอยู่ระหว่างการวิจัยเรื่อง Male Pheromone ที่มีในขนแพะเพื่อต่อยอดมาใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมน้ำหอมต่อไปอีกด้วย
นอกจากนี้ วว.ยังมีงานวิจัยและพัฒนาที่เน้นไปที่การใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีในด้านการส่งเสริมการเลี้ยงแพะ การเสริมประโยชน์จากแพะและนมแพะ ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ให้กับฟาร์มแพะในจังหวัดกระบี่และเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะสามารถต่อยอดการพัฒนาผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์เพิ่มมูลค่าให้สูงขึ้นอย่างเช่น น้ำหอมและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องจากขนแพะ ที่มีศักยภาพต่ออุตสาหกรรมน้ำหอมและเครื่องสำอางในอนาคต ก่อให้เกิดรายได้และเกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนของชุมชนให้มากขึ้น
นางศิรินันท์ ทับทิมเทศ อำนวยการศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร วว. กล่าวเสริมถึงงานการวิจัยและพัฒนาน้ำมันหอมระเหยของ วว. ว่า ที่ผ่านมาส่วนใหญ่ใช้ในด้านเสริมสุขภาพและความงาม การพัฒนาน้ำหอมจากขนแพะจึงเป็นแนวทางการใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมน้ำหอมและเครื่องสำอางของประเทศ ที่มีแนวโน้มการเติบโตที่สูงขึ้น และแพะยังเป็นอีกหนึ่งสัตว์เศรษฐกิจที่น่าสนใจอีกด้วย