ปัญหา ASF ในสุกร ที่ระบาดอย่างหนักในแทบทุกประเทศในภูมิภาคเอเชีย ส่งผลให้ ผลผลิตหมูลดลงอย่างหนัก หลายประเทศต้องประสบปัญหาขาดแคลนหมู ปริมาณไม่เพียงพอกับการบริโภค จนต้องพึ่งพาการนำเข้า ส่งผลให้ราคาหมูทั้งภูมิภาคปรับเพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ยกตัวอย่างในประเทศจีนที่โดนโรคนี้เล่นงานเข้าเต็มๆ ทำให้ราคาหมูหน้าฟาร์มขยับไปถึง 140 กว่าบาทต่อกิโลกรัม ส่วนเวียดนามราคาพุ่งไป 110 บาท และเมียนมาราคาเกือบ 100 บาท
ขณะที่ประเทศไทยยังสามารถคงสถานะปลอดโรค ASF แต่ราคาหมูกลับถูกที่สุดในภูมิภาค เพราะราคายังคงยืนอยู่ที่ 78-79 บาทต่อกิโลกรัม จากการที่เกษตรกรทั้ง 2 แสนรายทั่วประเทศ ให้ร่วมมือกับกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ในการดูแลราคาหมูเป็นหน้าฟาร์มไม่ให้เกิน 80 บาท เพื่อให้ราคาหมูเขียงขายไม่เกินกิโลกรัมละ 160 บาท ถือเป็นการดูแลผู้บริโภคไม่ให้ได้รับความเดือนร้อน ซ้ำเติมในวิกฤติโควิด-19 เช่นนี้
วันนี้ทุกประเทศมีความต้องการบริโภคเนื้อสัตว์เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะเนื้อหมู รวมถึงประเทศไทยที่การบริโภคสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ราคาหมูจึงขยับตามกลไกตลาด ซึ่งอาจเกิดจากช่องว่าง หรือคนกลาง ระหว่างหน้าฟาร์มและหน้าเขียง แต่ถึงอย่างไรราคาหมูไทยก็ไม่ได้สูงไปกว่าประเทศอื่นในภูมิภาคดังข้อมูลข้างต้น และปริมาณหมูก็มีมากเพียงพอกับการบริโภคในประเทศ ไม่เคยต้องขาดแคลนเหมือนกับประเทศอื่นๆ
ยังถือเป็นโชคดีของวงการหมูที่วันนี้ภาครัฐเข้าใจสถานการณ์ เห็นได้จากการที่กรมการค้าภายในเปิดเผยถึงเรื่องนี้ว่า “ถ้าราคาปรับขึ้นในระยะสั้นๆ จากความต้องการที่สูง ก็ต้องปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด เพราะตรงนี้ก็จะช่วยให้ผู้เลี้ยงหมูมีรายได้เพิ่มขึ้น จากในอดีตเกษตรกรได้รับความเดือดร้อนจากราคาที่ตกต่ำ”
ที่สำคัญราคาที่ปรับตัวนี้ก็เพียงทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรพออยู่ได้ พอต่อลมหายใจให้พวกเขาได้ลืมตาอ้าปากได้บ้าง หลังจากต้องแบกรับภาระขาดทุนสะสมตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ทำให้ไม่ต้องล้มหายตายจากไปเหมือนช่วงที่ผ่านมา ซึ่งไม่เพียงช่วยคนเลี้ยงหมูให้ “ไปต่อ” ได้เท่านั้น แต่ยังเชื่อมโยงไปถึงผู้ปลูกพืชอาหารสัตว์ตลอดห่วงโซ่ ทั้งเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปลายข้าว รำข้าว ปลายข้าว มันสำปะหลัง ที่จะสามารถขายผลผลิตได้ นับเป็นเรื่องที่ดีต่อเกษตรกรที่ถือเป็นผู้บริโภคคนหนึ่ง ที่จะได้มีกำลังซื้อที่สูงขึ้น เพื่อเป็นอีกแรงในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในวิกฤตินี้
วันนี้ถึงเวลาที่สังคมไทยต้องช่วยเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูและเกษตรกรผู้เพาะปลูกทั้งหมด ซึ่งต่างมีอาชีพเดียวที่ต้องรักษาเอาไว้ ไม่สามารถเปลี่ยนอาชีพเป็นอย่างอื่นได้ ขณะที่ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อหาอาหารรับประทานแทนหมูได้ ทั้งปลา ปู กุ้ง ไก่ ไข่ หรืออาหารตามธรรมชาติที่มีให้เลือกอย่างไม่จำกัด
ยิ่งไปกว่านั้น สิ่งที่ต้องไม่ลืมคือ สินค้าเกษตร เปรียบเหมือนขุมทรัพย์ของประเทศไทย และเป็นสินค้าเดียวที่จะช่วยฟื้นเศรษฐกิจไทยหลังโควิดได้ การสนับสนุนให้สินค้าเกษตรปศุสัตว์ ทั้งหมู และไก่ที่เป็นหนึ่งในโปรดักส์แชมเปี้ยนของไทยอยู่แล้ว ให้เป็นกุญแจดอกสำคัญในการไขประตูฝ่าวิกฤติ จึงเป็นทางเลือกที่เหมาะสมที่สุดในห้วงเวลานี้