กำลังเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันอย่างหนักในโลกโซเชียล กับกรณีที่สหรัฐอเมริกา ประกาศตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร หรือ GSP กับสินค้าไทยเพิ่มอีก 231 รายการ ซึ่งคิดเป็นภาษีที่ต้องเสียในอัตราปกติมูลค่าประมาณ 19 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 600 ล้านบาท ตามที่ นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ระบุไว้ โดยจะมีผลในวันที่ 30 ธันวาคม 2563 นี้นั้น เป็นเพราะรัฐบาลไทยไร้ความสามารถในการเจรจาการค้า หรือ เป็นเพราะประเทศไทยเรามีศักยภาพและความแข็งแกร่งในด้านการผลิตทัดเทียบกับสหรัฐฯ จึงทำให้ถูกมองว่า ไทยคือคู่แข่งทางการค้า เช่น อุตสาหกรรมไก่เนื้อ ที่สหรัฐฯ ไม่ยอมเปิดตลาดให้ไก่ไทย ทั้งๆ ที่ไก่ของเรามีมาตรฐานการผลิตที่ไม่เป็นสองรองใคร ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศทั้งในยุโรป สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือแม้แต่ จีน เกาหลี และญี่ปุ่น
ขณะที่รายงานจากเว็บไซต์ของ USTR ณ วันที่ 1 พ.ย. 63 เผยแพร่ข้อมูลชัดเจนว่า การตัดสิทธิ GSP ของประเทศไทย เป็นเพราะประเด็น เนื้อหมู ซึ่งเกิดจากไทย ไม่เปิดตลาดนำเข้าเนื้อหมู ที่มีการใช้สารเร่งเนื้อแดงจากสหรัฐฯ เพราะประเทศไทยห่วงผลกระทบด้านสุขภาพและอนามัยของประชาชน
อย่างไรก็ตาม ที่แน่ๆ เนื้อหมูสหรัฐฯ มีการใช้สารเร่งเนื้อแดง 100% ทั้งที่เป็นสารที่มีอันตรายต่อผู้บริโภค เพราะสารเร่งเนื้อแดงทำให้ต้นทุนการเลี้ยงสุกรของสหรัฐฯ ลดลง โดยสุกรจะโตเร็วขึ้น และใช้อาหารน้อยลง จึงเป็นสาเหตุให้อุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรของสหรัฐฯ สามารถใช้สารนี้ได้อย่างถูกกฎหมาย ขณะที่ประชาชนชาวสหรัฐฯ เองก็ไม่บริโภคเครื่องใน เนื่องจากเป็นแหล่งสะสมสารตกค้างของสารเร่งเนื้อแดง จึงทำให้สหรัฐฯ เกิดขยะอาหารมากมาย และพยายามที่จะกำจัดอยู่ในขณะนี้
สำหรับอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรของประเทศไทย การใช้สารเร่งเนื้อแดง เป็นเรื่องที่ผิดกฏหมาย โดยข้อมูลจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.ทิลดิสร์ รุ่งเรืองกิจไกร คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า “สารเร่งเนื้อแดง” เป็นสารกลุ่ม “เบต้าอะโกนิสต์” จัดเป็นสารอันตรายตาม “ประกาศของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พ.ศ. 2545” และ “ประกาศกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2546” ที่ห้ามมิให้ใช้ในกระบวนการเลี้ยงสัตว์ “อย่างเด็ดขาด” ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางของทางสหภาพยุโรป (EU) และอีกหลายประเทศ ได้แก่ รัสเซีย และจีน ที่มีการห้ามการใช้สารเร่งเนื้อแดง เพื่อให้เกิดความปลอดภัยด้านอาหารแก่ประชากรอย่างเต็มที่
สารเร่งเนื้อแดง ในกลุ่มเบต้าอะโกนิสต์ ถือเป็น “ยา” ที่มีใช้ในทางการแพทย์ มีฤทธิ์ในการขยายหลอดลมสำหรับผู้ป่วยโรคหอบหืดและหลอดลมอักเสบ ซึ่งหากสารเบต้าอะโกนิสต์ถูกนำไปผสมในอาหารสำหรับเลี้ยงสุกร เพื่อเป็นสารเร่งเนื้อแดง จะกระตุ้นให้มีการใช้พลังงานจากไขมัน ลดการสะสมของไขมัน เพิ่มการสะสมโปรตีนในกล้ามเนื้อ เพื่อให้มีเนื้อแดงเพิ่มขึ้น มองดูเผินๆ แล้วเหมือนเป็นเรื่องดี แต่ย้ำว่า มีอันตรายต่อสุขภาพของทั้งคน และสัตว์เลี้ยงเป็นอย่างมาก หากผู้บริโภค (โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว) รับประทานเนื้อหมูที่ปนเปื้อนสารเร่งเนื้อแดงแล้ว อาจเกิดอาการหัวใจเต้นผิดปกติ นอนไม่หลับ คลื่นไส้ อาเจียน โดยเฉพาะเป็นอันตรายโดยตรงต่อสตรีมีครรภ์ และผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจเต้นผิดปกติ ซึ่งสารกลุ่มนี้ มีคุณสมบัติที่ทนต่อความร้อน ทั้งน้ำเดือดที่ 100 องศาเซลเซียส และน้ำมันที่ 260 องศาเซลเซียส ดังนั้น “การต้มการอบ การทอด หรือการใช้เตาไมโครเวฟ ก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงความเข้มข้นของสารกลุ่มนี้ได้”
สำหรับอุตสาหกรรมเลี้ยงสุกรในประเทศไทยในปัจจุบันค่อนข้างมั่นใจได้ว่า ไม่น่าจะมีการใช้สารเร่งเนื้อแดงในการเลี้ยง เพราะเป็นเรื่องที่ “ผิดกฎหมาย และมีโทษค่อนข้างสูง” หากพบการกระทำความผิดฝ่าฝืนใช้จะมีโทษหนัก ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการฆ่าสัตว์เพื่อการจำหน่ายเนื้อสัตว์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และมีโทษตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ ให้จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับอีกด้วย
ต้องถือเป็นความโชคดีอย่างมากที่มีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เข้ามากำกับดูแลอย่างใกล้ชิด รวมทั้งมีการยกระดับคุณภาพการผลิตเนื้อสุกร ปลอดภัยตามหลักมาตรฐานสากลอีกด้วย
การที่ประเทศไทยตัดสินใจไม่รับเนื้อหมูปนเปื้อนสารเร่งเนื้อแดงจากสหรัฐฯ เข้ามาให้ชาวไทยได้บริโภคนั้น แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไทยคำนึงถึงสุขภาพที่ดีของคนในประเทศ และไม่หลงกลเดินตามเกมส์การเมืองของทรัมป์ที่ต้องการเอาใจเกษตรกรสหรัฐฯ หวังคะแนนเลือกตั้ง …. ในความคิดเห็นของผู้เขียนถือว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องแล้ว!!