ค.ร.ม.ไฟเขียวทุ่มงบ 767 ล้านบาท หนุนโครงการช่วยเหลือเกษตรกรเยียวยาผู้ประสบอุทกภัยด้านประมง
จากการที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบในหลักการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการฟื้นฟู เยียวยา เกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยปี 2562 ภายใต้วงเงิน 767 ล้านบาท เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2562 ทางกระทรวงเกษตรฯ ขานรับพร้อมเร่งสั่งการกรมประมงดำเนิน 2 โครงการ “โครงการการเลี้ยงปลานิลแปลงเพศในบ่อดิน”และ “โครงการปล่อยพันธุ์กุ้งก้ามกรามสร้างรายได้ในแหล่งน้ำชุมชน” เพื่อช่วยเยียวยาสร้างรายได้พร้อมฟื้นคืนอาชีพอย่างเร่งด่วน
ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า จากการที่พี่น้องเกษตรกรได้ประสบอุทกภัย 23 จังหวัด ด้านประมงเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่กระทรวงเกษตรฯ ได้ให้ความสนใจในการดูแลเป็นพิเศษ ซึ่งนอกจากการให้การช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 มีอัตราการช่วยเหลือ ดังนี้
(1)กุ้งก้ามกราม กุ้งทะเล ปูทะเล หอยทะเล ไร่ละ 10,920 บาท ไม่เกินรายละ 5 ไร่
(2) ปลา หรือ สัตว์น้ำอื่น ไร่ละ 4,225 บาท ไม่เกินรายละ 5 ไร่ และ
(3) กระชัง บ่อซีเมนต์ ตารางเมตรละ 315 บาท ไม่เกินรายละ 80 ตารางเมตร แล้วนั้น
ล่าสุดทางกรมประมงได้มีการเสนอของบประมาณเพิ่มเติมเพื่อเป็นการช่วยให้พี่น้องเกษตรกรได้ฟื้นตัวได้เร็วมากขึ้น สำหรับโครงการพัฒนาส่งเสริมการประกอบอาชีพทางเลือกด้านการประมงเพื่อให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยเนื่องจากพายุ “โพดุล” และ “คาจิกิ” จำนวน 2 โครงการที่ได้ผ่านมติจากครม.ล่าสุด มีรายละเอียด ดังนี้
(1)โครงการพัฒนาเสริมทางเลือกอาชีพด้านประมง : การเลี้ยงปลานิลแปลงเพศในบ่อดินมีเป้าหมายในการช่วยเหลือเกษตรกรจำนวน 50,000 ราย ครอบคลุมพื้นที่ 50,000 ไร่ โดยสนับสนุนพันธุ์ปลาและอาหารสัตว์น้ำให้แก่เกษตรกร (เกษตรกรได้รับพันธุ์ปลานิลแปลงเพศรายละ 800 ตัว พร้อมอาหารสัตว์น้ำนำร่องจำนวน 120 กก.คิดเป็นมูลค่ารายละ 5,000 บาท) ซึ่งการเลี้ยงปลานิลแปลงเพศในบ่อดินเป็นทางเลือกหนึ่งที่สามารถทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นหรือลดรายจ่ายในครัวเรือนโดยพันธุ์ปลานิลแปลงเพศที่สนับสนุนจะมีขนาดใหญ่ใช้ระยะเวลาในการเลี้ยงสั้น
(2) โครงการสร้างรายได้จากอาชีพประมงในแหล่งน้ำชุมชน: มีเป้าหมายพัฒนาแหล่งน้ำในชุมชน จำนวน 1,436 แห่งครอบคลุมพื้นที่ 129 อำเภอ โดยปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ(กุ้งก้ามกราม) ในแหล่งน้ำชุมชนขนาดกลางหรือขนาดเล็ก ซึ่งเป็นแหล่งน้ำแบบปิด โดยสนับสนุนลูกพันธุ์กุ้งก้ามกรามขนาดตั้งแต่ 5 – 7 เซนติเมตรจำนวน 200,000 ตัวต่อแหล่งน้ำ
ทั้งนี้การเลี้ยงกุ้งก้ามกรามนับเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่มีราคาสูงในท้องตลาด จึงคาดว่าจะสามารถให้ผลตอบแทนที่รวดเร็ว โดยโครงการนี้จะเน้นการมีส่วนของชุมชน และเป็นการปลูกฝังให้ประชาชนหวงแหนทรัพยากรสัตว์น้ำในพื้นที่ของตน ด้วยการมีส่วนร่วมในการพิจารณาแหล่งน้ำสำหรับปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำในชุมชนของตน ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างอาชีพ เสริมรายได้ และเป็นแหล่งอาหารให้กับชุมชน
.
และจากการตรวจสอบคุณภาพน้ำเพื่อเตรียมความพร้อมของกรมประมงในการดำเนินโครงการ พบว่าทางกรมประมงได้สั่งการให้นักวิชาการในพื้นที่ที่ประสบอุทกภัย ตรวจสอบคุณภาพเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำทั้งคุณภาพน้ำในบ่อเลี้ยง และในแหล่งน้ำธรรมชาติ พบว่าค่าอุณหภูมิของน้ำ ค่าความโปร่งแสง ค่าความเป็นกรดเป็นด่าง ค่าความกระด้าง และค่าออกซิเจนที่ละลายในน้ำ มีความเหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของสัตว์น้ำในทุกพื้นที่
.
สำหรับโครงการดังกล่าวนี้ได้ดำเนินการสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2561- 2580) ด้านการส่งเสริมอาชีพการประมงเพื่อเตรียมความพร้อมใก้กับเกษตรกร ทั้งด้านการสร้างโอกาสและเสริมสร้างศักยภาพให้กับชุมชนให้พึ่งพาตนเองได้ สุดท้ายนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าโครงการดังกล่าว จะสามารถช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยได้ ตลอดจนเป็นการฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรในแหล่งน้ำเพื่อเพิ่มผลผลิตให้กับแหล่งน้ำในพื้นที่อันจะเป็นการสร้างแหล่งอาหารและโปรตีนให้กับชุมชน เพื่อสร้างความอยู่ดีมีสุขและสามารถเรียกรอยยิ้มให้พี่น้องชาวประมงที่ได้รับผลกระทบ ได้ฟื้นกลับมาทำอาชีพประมงได้อย่างมั่นคงอีกครั้ง