ชป.เร่งระบายน้ำลำน้ำยัง เก็บกักไว้ในแหล่งน้ำธรรมชาติ ส่งผลระดับน้ำเริ่มลดลง

0
7147

กรมชลประทาน เร่งระบายน้ำในลำน้ำยัง หลังได้รับอิทธิพลจากพายุซินลากู เมื่อวันที่ 31 กค.-2 ส.ค 63 ที่ผ่านมา ทำให้มีฝนตกหนักในพื้นที่ลุ่มน้ำยังตอนบนและตอนล่าง โดยมีฝนตกหนักวันที่ 1 ส.ค.63 ที่ อ.กุฉินารายน์ 70 มม. อ.สมเด็จ 70 มม. อ.ห้วยผึ้ง 107.3 มม. อ.เขาวง 105 มม. อ.เสลภูมิ 132 มม. อ.เมืองยโสธร 103 มม. ส่งผลให้น้ำท่าไหลบ่าจากตอนบนลำน้ำยังลงสู่ตอนล่าง

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยหลังได้รับรายงานจากนายศักดิ์ศิริ  อยู่สุข ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 6 ว่า ได้ดำเนินการตัดยอดน้ำ เพื่อลดปริมาณน้ำการไหลหลากล้นตลิ่งในลำน้ำยัง จำนวน 3 จุด ประกอบด้วย จุดแรกทำการตัดยอดน้ำบริเวประตูระบายน้ำบุ่งเบ้า ให้ไหลลงลำห้วยวังหลวง ระบายน้ำสูงสุดได้ประมาณ 10 ลบ.ม.ต่อวินาที จุดที่ 2 ตัดยอดน้ำบริเวณประตูระบายน้ำกุดปลาเข็งไหลลงลำห้วยวังหลวง ระบายน้ำสูงสุดได้ประมาน 15 ลบ.ม.ต่อวินาที และจุดที่ 3 ที่อาคารระบายน้ำฉุกเฉินบ้านบาก ได้ตัดยอดน้ำผันไปลงบึงเกลือ โดยการเปิดคันดินทำรางระบายน้ำกว้างประมาณ 23 เมตร ต่ำจากหลังคันดิน 1.80 เมตร พร้อมทำแนวป้องกัน โดยเมื่อวันที่ 6 ส.ค. 63 มีน้ำไหลล้นข้ามสันรางระบายสูงประมาณ 30 เซนติเมตร อัตราการระบายน้ำประมาณ 8 ลบ.ม.ต่อวินาที และระบายผ่านอาคารประตูระบายน้ำประมาณ 10 ลบ.ม.ต่อวินาที เกิดน้ำกัดเซาะแนวตลิ่งด้านท้ายเสียหายบางส่วน ซึ่งเมื่อระดับน้ำลดลงแล้ว โครงการชลประทานร้อยเอ็ด จะเร่งรัดดำเนินการป้องกันตลิ่งและงานเรียงหินสันรางระบายให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ส่วนด้านท้ายน้ำยังไม่ได้รับผลกระทบจากการระบายน้ำแต่อย่างใด

จากการดำเนินการตัดยอดน้ำทั้ง 3 จุด ทำให้สามารถระบายน้ำจากลำน้ำยังได้ประมาณ 28 ลบ.ม.ต่อวินาที หรือประมาณ 2.40 ล้าน ลบ.ม. ต่อวัน ช่วยลดระดับน้ำในลำน้ำยังไม่ให้เพิ่มสูงขึ้นได้ประมาณ 45 เซนติเมตร แนวโน้มขณะนี้ระดับน้ำในลำน้ำยังเริ่มทรงตัวและลดลงตามลำดับ หากไม่มีฝนตกหนักลงมาเพิ่มเติม

การตัดยอดน้ำในล้ำน้ำยังในครั้งนี้นอกจากจะช่วยให้น้ำในลำน้ำยังระบายไปลงแม่น้ำชีได้เร็วขึ้นแล้ว ยังช่วยลดผลกระทบน้ำไหลหลากล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรและเป็นการพร่องน้ำในลำน้ำยังให้มีพื้นที่ว่างสำหรับรองรับปริมาณฝนที่จะตกลงมาเพิ่มได้อีกในระยะต่อไป อีกทั้งยังส่งผลดีช่วยผันน้ำเข้าไปเก็บกักที่ห้วยวังหลวง บึงบ่อแก บึงเกลือ บึงกุดปลาคูณและแหล่งน้ำธรรมชาติรวมกันประมาณ 15 ล้านลบ.ม. ทำให้เกษตรกรมีปริมาณน้ำเก็บกักไว้ใช้เพื่อการอุปโภคบริโภค และการเกษตรอย่างไม่ขาดแคลน