ชป.เดินหน้าโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกักน้ำและบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น

0
7325

วันนี้ (20 ส.ค. 63) ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน และคณะ ลงพื้นที่ติดตามการเตรียมความพร้อมรับน้ำหลากฤดูฝนปี 2563 ในเขตพื้นที่สำนักงานชลประทานที่ 6 โดยมี นายศักดิ์ศิริ อยู่สุข ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 6นายสุพิศ พิทักษ์ธรรม ผู้อำนวยการสำนักเครื่องจักรกล นายศักดิ์มงคล มิ่งเมือง ผู้อำนวยการส่วนบริหารเครื่องจักรกลที่ 3 และผู้เกี่ยวข้องให้การต้อนรับ พร้อมรายงานสถานการณ์น้ำและการเตรียมความพร้อมในพื้นที่ ณ ส่วนบริหารเครื่องจักรกลที่ 3 สำนักเครื่องจักรกล อำเภอน้ำพอง , โครงการพัฒนาแก้มลิงบึงแก่งน้ำต้อน บ้านป่าเหลื่อม ตำบลดอนช้าง อำเภอเมือง และอ่างเก็บน้ำแก่งละว้า ตำบลเมืองเพีย อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า สำนักงานชลประทานที่ 6 รับผิดชอบการพัฒนาแหล่งน้ำและบริหารจัดการน้ำครอบคลุมพื้นที่ 5 จังหวัด (จังหวัดชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม และร้อยเอ็ด) โดยมีพื้นที่รับผิดชอบกว่า 27 ล้านไร่ โดยมีลุ่มน้ำหลัก 3 ลุ่มน้ำ ประกอบด้วย ลุมน้ำชี ลุ่มน้ำมูล และลุ่มน้ำป่าสัก(บางส่วน) ซึ่งประชาชนในพื้นที่มักจะประสบกับปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งซ้ำซาก กรมชลประทาน เล็งเห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกับประชาชนในพื้นที่ดังกล่าว จึงได้กำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาขึ้น โดยยึดหลักการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน คือ ต้นน้ำเราเก็บน้ำ กลางน้ำเราชะลอน้ำ และปลายน้ำเราเร่งระบายน้ำ

ด้านนายสุพิศ พิทักธรรม ผู้อำนวยการสำนักเครื่องจักรกล กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมด้านเครื่องจักร เครื่องมือ เพื่อปฏิบัติการในภาวะวิกฤตอุทกภัยว่า ปัจจุบันได้ดำเนินการเตรียมพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือ อาทิ เรือขุด รถแทรกเตอร์ รถขุด และเครื่องจักรอื่นๆ เข้าประจำจุดพื้นที่เสี่ยงภัยในพื้นที่ภาคอีสาน ได้แก่ เลย หนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย สกลนคร บึงกาฬ ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ และร้อยเอ็ด รวมทั้งสิ้น 133 หน่วย ที่พร้อมจะเข้าไปให้ความช่วยเหลือประชาชนทันทีหากเกิดวิกฤต

สำหรับโครงการพัฒนาแก้มลิงบึงแก่งน้ำต้อน เป็นหนองน้ำธรรมชาติมีพื้นที่ประมาณ 6,196 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 3 ตำบล คือ ตำบลเมืองเก่า ดอนช้าง และบ้านหว้า ปัจจุบันมีสภาพตื้นเขิน ในช่วงฤดูน้ำหลากมักเกิดน้ำท่วมขังพื้นที่ลุ่มต่ำ และไม่สามารถเก็บกักน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งได้มากนัก เนื่องจากไม่มีอาคารบังคับน้ำ กรมชลประทาน จึงได้วางแผนพัฒนาแหล่งน้ำดังกล่าว ประกอบไปด้วย โครงการสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าพร้อมระบบส่งน้ำแก่งน้ำต้อน โครงการแก้มลิงแก่งน้ำต้อนพร้อมอาคารประกอบ (ระยะที่1) และโครงการสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าพร้อมระบบส่งน้ำแก่งน้ำต้อน หากการดำเนินงานแล้วเสร็จ จะสามารถเพิ่มปริมาณน้ำจากเดิมที่เก็บกักน้ำได้เพียง 7 ล้าน ลบ.ม. เป็น 35 ล้าน ลบ.ม. ทั้งยังเพิ่มพื้นที่ชลประทานได้อีกกว่า 35,000 ไร่ และยังสามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้ในอนาคต ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ให้ดีขึ้นได้อีกด้วย


ด้านโครงการอ่างเก็บน้ำแก่งละว้า เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง ความจุเก็บกักประมาณ 45 ล้าน ลบ.ม. มีพื้นที่รับประโยชน์กว่า 25,000 ไร่ มีประชาชนได้รับประโยชน์กว่า 2,000 ครัวเรือน ปัจจุบันอยู่ระหว่างศึกษาความเหมาะสมโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกักน้ำอ่างเก็บน้ำแก่งละว้า และในอนาคตมีแผนปรับปรุงผิวจราจรหลังทำนบดินอ่างเก็บน้ำฯ และดำเนินการขุดลอกแก้มลิงหนองกองแก้วพร้อมอาคารประกอบ เพื่อลดผลกระทบจากปัญหาขาดแคลนน้ำสำหรับอุปโภคบริโภค ตลอดจนน้ำเพื่อการเกษตรในพื้นที่