โครงการชลประทานบุรีรัมย์ เดินหน้าจัดหาแหล่งน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ สำหรับการอุปโภคบริโภคให้กับชาวบุรีรัมย์ หลังปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำและแหล่งน้ำธรรมชาติ ลดน้อยลงอย่างต่อเนื่อง พร้อมจับมือการประปาส่วนภูมิภาคและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง วางมาตรการจัดหาแหล่งน้ำเสริมผลิตประปา มั่นใจหากทุกคนช่วยกันประหยัดอย่างจริงจัง จะมีน้ำกินน้ำใช้ไปจนถึงต้นฤดูฝนปีหน้า
ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผย กรมชลประทาน โดยสำนักงานชลประทานที่ 8 เร่งให้ความช่วยเหลือน้ำอุปโภคบริโภค แก่ประชาชนในเขตพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ โดยระดมน้ำจากอ่างเก็บน้ำที่อยู่โดยรอบในลักษณะของหลุมขนมครกเข้ามายังอ่างเก็บน้ำห้วยตลาด และอ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก พร้อมกับทำการสูบผันน้ำจากบ่อหินเอกชนผ่านคลองส่งน้ำเข้ามาเติมยังอ่างฯห้วยตลาด และส่งน้ำโดยการขุดชักร่องน้ำต่อไปยังอ่างฯห้วยจระเข้มากเพื่อสนับสนุนน้ำสำหรับผลิตน้ำประปาของการประปาส่วนภูมิภาคสาขาเมืองบุรีรัมย์
ด้าน นายเทิดพงศ์ ไทยอุดม ผู้อำนวยการโครงการชลประทานบุรีรัมย์ กล่าวว่า โครงการชลประทานบุรีรัมย์ กำหนดแผนดำเนินการสูบผันน้ำเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำให้เพียงพอสำหรับผลิตน้ำประปา ดังนี้ 1.) ทำการสูบน้ำกลับมาเติมอ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก ตั้งแต่วันที่ 9 ตุลาคม ถึงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2562 รวมปริมาณน้ำประมาณ 1,507,800 ลบ.ม. 2.) ทำการสูบน้ำจากลำปลายมาศมาเติมอ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก ตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม ถึงวันที่ 9 ธันวาคม 2562 รวมปริมาณน้ำ 5,481,100 ลบ.ม. 3.) ทำการขุดชักร่องขนมครกในอ่างเก็บน้ำเข้าสู่หัวสูบของการประปาส่วนภูมิภาค ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 10 มีนาคม2563 รวมปริมาณน้ำ 740,000 ลบ.ม. 4.) ทำการผันน้ำจากเหมืองหิน ไปเติมอ่างเก็บน้ำห้วยตลาด ตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคม ถึงวันที่ 16 เมษายน 2563 รวมปริมาณน้ำ 450,000 ลบ.ม. 5.) ทำการผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำลำปะเทีย และอ่างเก็บน้ำลำจังหัน รวมกว่า 7 ล้าน ลบ.ม. ไปเติมยังอ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก โดยเริ่มผันน้ำตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ ไปจนถึงวันที่ 30 เมษายน 2563คาดว่าจะมีปริมาณน้ำประมาณ 1,000,000 – 2,000,000 ลบ.ม. และน้ำจะเดินทางถึงอ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มากประมาณวันที่ 1 พฤษภาคม2563 นี้ และ 6.) ประสานความร่วมมือกับการประปาส่วนภูมิภาค เพื่อทำการผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยสวาย โดยวางแผนดำเนินการก่อสร้างระบบผันน้ำในช่วงระหว่างวันที่ 4 มีนาคม ถึง 3 มิถุนายน 2563 หลังจากนั้นจะสามารถดำเนินการผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยสวายไปยังอ่างเก็บน้ำห้วยตลาด ในปริมาณ 5,000,000 ลบ.ม.
อนึ่ง กรมชลประทาน จำเป็นต้องบริหารจัดการน้ำให้เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด และแม้ว่าขณะนี้ยังมีปริมาณน้ำเพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภคตลอดฤดูแล้ง แต่ยังคงต้องสำรองน้ำต้นทุนไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝนปีหน้าด้วย หากเกิดกรณีฝนมาล่าช้า จึงต้องขอความร่วมมือทุกภาคส่วนร่วมใจกันใช้น้ำอย่างประหยัดให้ถึงที่สุด รวมทั้งสร้างการตระหนักรู้ถึงคุณค่าของทรัพยากรน้ำ เพื่อลดความเสี่ยงต่อปัญหาการขาดแคลนน้ำในอนาคต