ชป.สนองนโยบายรัฐบาล สนับสนุนน้ำพื้นที่เกษตรแปลงใหญ่ หวังพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรไทยให้ดีขึ้น

0
10102

กรมชลประทาน สนองนโยบายรัฐบาล สนับสนุนการใช้น้ำในพื้นที่เกษตรแปลงใหญ่ ซึ่งเป็นโครงการฯ ที่เป็นเป้าหมายหลักของรัฐบาล ที่มุ่งส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับเกษตรกรกว่า 400,000 ราย กลุ่มเกษตรแปลงใหญ่กว่า 6,800 กลุ่ม บนพื้นที่ 6,600,000 ไร่ ช่วยลดต้นทุนและสร้างอำนาจการต่อรองให้กับเกษตรกรได้มากยิ่งขึ้น

นายสุรชาติ มาลาศรี ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปัญหาใหญ่ของเกษตรกรไทย คือหนี้สิน ความยากจน ไม่มีตลาด ผลิตแล้วไม่ได้ราคา ขาดการแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่า และถูกกดราคาขายผลผลิต เป็นต้น กรมชลประทาน ได้ดำเนินการตามนโยบายเกษตร 4.0 ของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ด้วยการสร้างโมเดลเกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด ภายใต้ยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิต ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งจะส่งเสริมให้เกษตรกรจับกลุ่มรวมตัวกันทำเกษตรแปลงใหญ่ พัฒนาไปสู่ GAP ปลูกพืชอินทรีย์ตามที่ตลาดต้องการ นำไปสู่การค้าขายออนไลน์ มีการใช้ระบบ smart farm เข้ามาช่วยบริหารจัดการ เช่น ระบบน้ำหยด โซล่าเซลล์ เซ็นเซอร์ และโดรน เป็นต้น

ในส่วนของกรมชลประทานได้สนับสนุนโครงการเกษตรแปลงใหญ่ ด้วยการพัฒนาระบบชลประทานให้มีความพร้อมรองรับการใช้น้ำของเกษตรกรให้มีน้ำใช้อย่างเพียงพอ ซึ่งในพื้นที่ที่จะวางโครงการชลประทาน ทุกวันนี้ต้องมองเป็นรูปแบบใหม่ ไม่ใช่มีน้ำเต็มศักยภาพแล้วจะสามารถส่งให้นาข้าวได้เพียงอย่างเดียว ต้องวิเคราะห์ตามภูมิสังคม เช่น พื้นที่ภาคใต้ปลูกข้าวเป็นส่วนน้อย เน้นการปลูกพืชสวนและผลไม้ จึงต้องทำการวิเคราะห์อย่างเฉพาะเจาะจง ทำให้มีการใช้น้ำอย่างประหยัดมายิ่งขึ้น ดังนั้น การบริหารจัดการน้ำเพื่อรองรับเกษตรแปลงใหญ่ จึงต้องวิเคราะห์ความต้องการแต่ละพื้นที่ และเกษตรวิถีใหม่ด้วยการปลูกพืชใช้น้ำน้อยหรือการเพาะปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้ง

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการรองรับนโยบายเกษตรแปลงใหญ่ กรมชลประทาน จึงพัฒนาเทคโนโลยีและการแลกเปลี่ยนความรู้ ด้วยการนำแนวทางการบริหารจัดการน้ำของประเทศออสเตรเลียด้วยระบบ Water Ordering แต่เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทการบริหารจัดการน้ำในประเทศไทย จึงใช้เป็น Water Requesting and Sharing ซึ่งเป็นแผนงานความร่วมมือระหว่างประเทศของกรมชลประทานกับประเทศออสเตรเลีย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำของกรมชลประทาน ในการนี้ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาชัณสูตร จ.สิงห์บุรี มีสภาพเก่าแก่ อายุ 60 กว่าปี จำเป็นต้องมีการปรับปรุงใหม่ พร้อมนำระบบและเทคโนโลยี Water Requesting and Sharing มาประยุกต์ใช้ในกิจกรรมการส่งน้ำในพื้นที่นำร่อง เพื่อให้เกษตรกรได้รับน้ำอย่างเพียงพอและวางข้อกำหนดร่วมกันในการใช้น้ำ ซึ่งจะทำให้เกิดประโยชน์กับพี่น้องเกษตรกรในพื้นที่โดยตรง