กรมชลประทาน เดินหน้ามาตรการป้องกันและบรรเทาปัญหาน้ำหลากในช่วงฤดูฝนปี 2564 ย้ำงานก่อสร้างโครงการของชลประทาน แม้ว่าอยู่ระหว่างดำเนินการ ได้มีการเตรียมความพร้อมในทุกด้าน ซึ่งจะไม่ส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการน้ำแต่อย่างใด
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ตามที่พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีในฐานะประธานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) มีข้อสั่งการให้หน่วยงานด้านน้ำ อาทิ กรมชลประทาน สำนักการระบายน้ำ(กทม.) การประปาส่วนภูมิภาค และกรมอุทกศาสตร์ ร่วมบูรณาการในการบริหารจัดการน้ำตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง ตลอดจนควบคุมคุณภาพน้ำ โดยการเชื่อมโยงข้อมูลในด้านต่างๆ เพื่อนำมาวิเคราะห์ในการบริหารจัดการน้ำ รวมทั้งวางกรอบแนวทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหาให้มีประสิทธิภาพและสอดคล้องกัน นั้น
กรมชลประทาน ได้วางมาตรการเพื่อสอดรับนโยบายป้องกันและบรรเทาปัญหาน้ำหลากในช่วงฤดูฝนปี 2564 ด้วยการกำหนดพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยซ้ำซาก กำหนดเจ้าหน้าที่ประจำพื้นที่เสี่ยง เพื่อร่วมบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการแจ้งเตือนประชาชน การจัดสรรทรัพยากรเครื่องจักร เครื่องมือ อาทิ เครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ เข้าไปประจำพื้นที่เสี่ยง เพื่อให้สามารถช่วยเหลือประชาชนได้ทันที รวมทั้งเฝ้าระวังและติดตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด พร้อมบริหารจัดการน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุมและสอดคล้องกับสถานการณ์ รวมไปถึงการตรวจสอบอาคารชลประทานให้มีความพร้อมใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ โดยเน้นย้ำให้ทุกโครงการชลประทานเร่งกำจัดวัชพืช สิ่งกีดขวางทางน้ำ รวมทั้งเร่งขุดลอกคลองและแก้มลิง ให้แล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายนนี้
นอกจากมาตรการดังกล่าว ยังมีโครงการที่อยู่ระหว่างการดำเนินการก่อสร้างเพื่อลดกระทบจากปัญหาน้ำหลากตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ไปจนถึงปลายน้ำ อาทิ การก่อสร้างประตูระบายน้ำ(ปตร.)ท่าแหปตร.วังจิก ปตร.โพธิ์ประทับช้าง ในลุ่มน้ำยม จังหวัดพิจิตร การก่อสร้างปตร.ศรีสองรัก ในลุ่มน้ำเลย จังหวัดเลย การก่อสร้างปตร.กุดปลาเข็ง ในลุ่มน้ำยัง จังหวัดร้อยเอ็ด การก่อสร้างปตร.พระนารายณ์ บริเวณคลองระพีพัฒน์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา การก่อสร้างปตร.บึงฝรั่ง กรุงเทพมหานคร การก่อสร้างปตร.บางขนาก จังหวัดฉะเชิงเทรา การขุดคลองระบายน้ำ D.9 ในลุ่มน้ำเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี การขุดคลองลัดคลองบางสะพาน ในลุ่มน้ำบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และการขุดขยายคลอง ร.1 จังหวัดสงขลา เป็นต้น แม้ว่าปัจจุบันโครงการเหล่านี้จะอยู่ระหว่างการดำเนินงานก่อสร้าง แต่สามารถใช้บริหารจัดการน้ำ เพื่อควบคุมปริมาณน้ำและคุณภาพน้ำ ในแม่น้ำสายหลักต่างๆ ได้พอสมควร ซึ่งหากโครงการแล้วเสร็จทั้งหมด จะสามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง ได้อย่างยั่งยืนในระยะต่อไป