ชป.ร่วมพัฒนาเวียงหนองหล่ม จังหวัดเชียงราย เพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกัก พัฒนาแก้มลิงให้เกิดประโยชน์สูงสุด

0
11106

วันนี้(23ธ.ค.63) พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมคณะ ลงพื้นที่ติดตามการพัฒนาแหล่งน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่เวียงหนองหล่ม ต.จันจว้า อ.แม่จัน จ.เชียงราย โดยมี นายประจญ ปรัชญ์สกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ดร.สุดชาย พรหมมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 1 รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 2 นายทวีชัย โค้วตระกูล ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเชียงราย ตลอดจนผู้แทนจากหน่วยงานเกี่ยวข้องและประชาชนในพื้นที่ร่วมให้การต้อนรับ ณ โครงการพัฒนาแหล่งน้ำธรรมชาติเวียงหนองหล่ม อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า  เวียงหนองหล่ม เป็นแหล่งน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่ พื้นที่ประมาณ 14,000ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 2 อำเภอ 4 ตำบล มีพื้นที่รับน้ำฝน 187 ตารางกิโลเมตร ปริมาณน้ำท่าเฉลี่ย 72 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี ปัจจุบันมีความจุเก็บกักประมาณ 8 ล้าน ลบ.ม. เนื่องจากประสบปัญหาตื้นเขินจากตะกอนดินที่สะสมเป็นเวลานาน และการบุกรุกที่ดินเพื่อทำกิน รวมทั้งยังไม่ได้มีการสำรวจขอบเขตพื้นที่โบราณสถานอย่างชัดเจน กรมชลประทาน จึงได้ร่วมบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง วางแผนดำเนินโครงการพัฒนาแหล่งน้ำธรรมชาติเวียงหนองหล่ม โดยนำโครงการหนองเล็งทรายโมเดล จ.พะเยา มาเป็นตัวอย่างในการดำเนินโครงการ เพื่อพัฒนาแหล่งน้ำที่มีอยู่เดิมให้มีประสิทธิภาพในการเก็บกักเพิ่มขึ้น เป็นแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และการเกษตรให้แก่ชุมชน ตามนโยบายของรัฐบาลและดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มุ่งเน้นสร้างศักยภาพทางด้านน้ำอย่างยั่งยืน

โดยแผนดำเนินการในระยะแรก จะทำการขุดลอกตะกอนดิน พื้นที่ประมาณ 2,500 ไร่ พร้อมผันน้ำจากแม่น้ำจันมาเก็บกักไว้ปรับปรุงและก่อสร้างถนนสายหลักและสายรองบริเวณรอบเวียงหนองหล่ม รวมทั้งปรับภูมิทัศน์เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ดำเนินการฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำเพื่อสร้างธนาคารอาหารชุมชน ในระยะที่สอง จะดำเนินการแก้ไขปัญหาการบุกรุกพื้นที่ทำกิน รวมทั้งดำเนินการขุดลอกพื้นที่อีกประมาณ 2,500 ไร่ โดยกันเขตออกจากพื้นที่โบราณสถาน พร้อมก่อสร้างอาคารประกอบบริเวณรอบหนองน้ำ ซึ่งหากโครงการแล้วเสร็จ จะสามารถเก็บกักน้ำได้ทั้งสิ้นประมาณ 25 ล้าน ลบ.ม. สนับสนุนพื้นที่การเกษตรได้มากกว่า 25,000 ไร่ เป็นแหล่งอาหารชุมชนจำนวน 4 ตำบล 2 อำเภอ ทั้งยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ของจังหวัด สร้างรายได้เสริมจากการท่องเที่ยวให้แก่ชุมชนได้อีกทางหนึ่งด้วย