กรมชลประทาน ยืนยันชาวโคราชมีน้ำเพียงพอใช้ไปจนถึงสิ้นเดือนกรกฎาคม 2563 ขอให้ทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัด ทั้งนี้ ขอสงวนน้ำไว้สำหรับสนับสนุนการผลิตน้ำประปาเพื่อการอุปโภคบริโภคเป็นหลัก
ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทานเปิดเผยสถานการณ์น้ำในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาว่า ปัจจุบันอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีอยู่ทั้งหมด 4แห่งได้แก่ อ่างเก็บน้ำลำตะคอง มีปริมาณน้ำ 88.44ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 28 ของความจุอ่างฯ อ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง มีปริมาณน้ำ 12.98ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 8 ของความจุอ่างฯ อ่างเก็บน้ำมูลบน มีปริมาณน้ำ 24.42 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 17 ของความจุอ่างฯ อ่างเก็บน้ำลำแซะ มีปริมาณน้ำ 37.69 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 14 ของความจุอ่างฯและอ่างเก็บน้ำลำนางรอง ที่ตั้งอยู่ในเขตจังหวัดบุรีรัมย์ มีปริมาณน้ำ 18 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 15 ของความจุอ่างฯ รวมปริมาณน้ำทั้ง 5อ่างฯ มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 182 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 18 ของความจุอ่างฯรวมกัน กรมชลประทาน ได้วางแผนระบายน้ำเพื่อสนับสนุนการอุปโภคบริโภคประมาณวันละประมาณ 0.257 ล้านลูกบาศก์เมตร หากมีฝนตกลงชุกมาในพื้นที่จะหยุดการระบายน้ำและใช้น้ำฝนเป็นหลัก เพื่อเก็บกักน้ำไว้ในอ่างเก็บน้ำให้มากที่สุด
สำหรับแผนการจัดการน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค สำนักงานชลประทานที่ 8 ขอยืนยันว่าปริมาณน้ำที่มีอยู่เพียงพอใช้ไปจนถึงเดือนสิ้นกรกฎาคม 2563 ส่วนแผนการเพาะปลูกนาปี ได้ขอความร่วมมือจากเกษตรกรให้ เริ่มการปลูกข้าวได้โดยมีข้อแนะนำ 3 ข้อ ดังนี้ 1.) เริ่มเข้าสู่ฤดูฝน 2.)มีฝนตกต่อเนื่อง และ 3.) มีน้ำในอ่างเก็บน้ำเพียงพอแก่การเตรียมแปลง โดยคาดว่าจะเริ่มการปลูกข้าวได้ประมาณปลายเดือนมิถุนายนหรือต้นเดือนสิงหาคม 2563 ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่ลงไปสร้างการรับรู้และทำความเข้าใจกับราษฎรในพื้นที่ให้รับทราบถึงสถานการณ์น้ำที่มีอยู่ในปัจจุบันอย่างต่อเนื่อง จึงขอให้ทุกภาคส่วนร่วมใจกันใช้น้ำอย่างประหยัดด้วย