คกก.มาตรฐานสินค้าเกษตร เห็นชอบเพิ่มอีก 4มาตรฐาน มุ่งยกระดับคุณภาพสินค้าเกษตร

0
6940

คกก.มาตรฐานสินค้าเกษตร เห็นชอบ 4 ร่างมาตรฐาน “ถั่วเขียวผิวดำ-กระถินแห้งสำหรับอาหารสัตว์-คอกแมว-สารพิษตกค้าง”เตรียมประกาศเป็นมาตรฐานทั่วไป มุ่งยกระดับคุณภาพสินค้าเกษตร พร้อมสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค

วันนี้ (16 ก.ค.) นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลัง           การประชุมคณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตร ครั้งที่ 2/2563 ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาเห็นชอบแก้ไขเพิ่มเติม               ร่างประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดอัตราค่าบริการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร สำหรับมาตรฐานทั่วไป (ฉบับที่…) พ.ศ. … โดยให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมบทนิยามคำว่า “การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี”   และคำว่าว่า “เกษตรอินทรีย์” รวมทั้งแก้ไขเพิ่มเติมอัตราค่าบริการตรวจสอบมาตรฐานทั่วไปเกี่ยวกับการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) 16 ชนิด และเกษตรอินทรีย์ (Organic) 16 ชนิด สำหรับสินค้าเกษตรประเภทปศุสัตว์และแก้ไขเพิ่มเติมค่าใบรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรให้ครอบคลุมถึงการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) และเกษตรอินทรีย์ (Organic)

ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ ยังได้ให้ความเห็นชอบแผนการจัดทำมาตรฐานสินค้าเกษตร ปี 2564 จำนวน 20 เรื่อง และแผนการจัดทำมาตรฐานสินค้าเกษตร 3 ปี (พ.ศ.2564-2566) นอกจากนี้ ยังได้เห็นชอบร่างมาตรฐานสินค้าเกษตร เพื่อดำเนินการประกาศเป็นมาตรฐานทั่วไปของประเทศต่อไป ซึ่งเป็นมาตรฐานใหม่ จำนวน 4 เรื่อง ได้แก่ 1. ถั่วเขียวผิวดำ 2. กระถินแห้งสำหรับอาหารสัตว์ 3. การปฏิบัติการทางการเพาะเลี้ยงสัตว์ที่ดีสำหรับคอกแมว และ 4 .สารพิษตกค้าง : ปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุด

“อย่างไรก็ดี ขณะนี้อยู่ในช่วงวิกฤติโรคระบาด อาทิ การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ซึ่งเมื่อผ่านช่วงเวลานี้ไป มาตรฐานสินค้าเกษตรจะมีความสำคัญมากขึ้น จึงได้กำชับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันดำเนินการกำหนดมาตรฐานให้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค” รมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าว

ด้าน ดร.จูอะดี พงศ์มณีรัตน์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.)            กล่าวว่า สำหรับสาระสำคัญของร่างมาตรฐานใหม่ 4 เรื่อง คือ 1. ถั่วเขียวผิวดำ เป็นพืชที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจ ของประเทศไทย เนื่องจากเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตถั่วงอกที่มีคุณภาพ ซึ่งการจัดทำร่างมาตรฐานสินค้าเกษตรถั่วเขียวผิวดำ เพื่อยกระดับคุณภาพการผลิต และการปฏิบัติต่อถั่วเขียวผิวดำในขั้นตอนต่างๆ รวมถึงการเก็บรักษาและการขนส่ง ต้องปฏิบัติถูกสุขลักษณะ เพื่อให้เป็นที่ยอมรับในเวทีการค้าระหว่างประเทศ 2. กระถินแห้งสำหรับอาหารสัตว์ ปัจจุบันมีการผลิตกระถินสับและกระถินป่น เพื่อจำหน่ายให้กับผู้เลี้ยงสัตว์และโรงงานผสมอาหารสัตว์ ปีละไม่น้อยกว่า 60,000 ตัน และมีการแปรรูปเป็นกระถินสับ กระถินป่น และกระถินอัดเม็ดส่งจำหน่ายทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น และเกาหลี แต่กระถินแห้งสำหรับอาหารสัตว์ที่จำหน่ายทั่วไปมีลักษณะทางกายภาพและสัดส่วนของปริมาณใบ กิ่ง และลำต้นแตกต่างกัน ทำให้คุณภาพมีความผันแปร จึงได้กำหนดมาตรฐานกระถินแห้งสำหรับอาหารสัตว์ ที่ผ่านการเตรียมและบรรจุหีบห่อใน 3 รูปแบบ ได้แก่ 1) กระถินสับ เป็นผลิตภัณฑ์กระถินสำหรับอาหารสัตว์ที่ได้จากการนำส่วนต่างๆ ของกระถินสดมาสับและทำให้แห้งด้วยวิธีการที่เหมาะสม 2) กระถินป่น                   เป็นผลิตภัณฑ์กระถินสำหรับอาหารสัตว์ที่ได้จากการนำใบกระถินแห้งหรือกระถินสับมาบดละเอียดตามขนาดที่ต้องการ และ 3) กระถินอัดเม็ด เป็นผลิตภัณฑ์กระถินสำหรับอาหารสัตว์ที่ได้จากการนำกระถินป่นมาอัดเป็นเม็ดตามขนาดที่ต้องการ

 3. การปฏิบัติทางการเพาะเลี้ยงสัตว์ที่ดีสำหรับคอกแมวปัจจุบันประเทศไทยมีผู้นิยมเลี้ยงแมวหลากหลายพันธุ์ ทำให้มีผู้ประกอบการคอกแมวเพิ่มมากขึ้น และการดำเนินธุรกิจคอกแมวที่มีอยู่ในปัจจุบันบางแห่งยังขาดการพัฒนาจัดระเบียบให้เข้าสู่ระบบที่ดี ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพแมว สวัสดิภาพสัตว์และป้องกันการระบาดของโรคที่สำคัญ เช่น โรคไข้หัดแมว โรคพิษสุนัขบ้า โดยร่างมาตรฐานครอบคลุมข้อกำหนดการปฏิบัติทางการเพาะเลี้ยงสัตว์ที่ดีสำหรับคอกแมวเชิงพาณิชย์ ตั้งแต่ลักษณะคอกแมว การจัดการคอกแมว บุคลากร การจัดการเลี้ยงและ/หรือเพาะพันธุ์ สุขภาพแมว การขนส่ง และการบันทึกข้อมูล เพื่อให้แมวมีคุณภาพ สุขภาพ และพันธุกรรมที่ดี โดยคำนึงถึงสุขภาพสัตว์ สวัสดิภาพสัตว์และสิ่งแวดล้อม และ 4. สารพิษตกค้าง : ปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุด โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดทำมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ เรื่อง สารพิษตกค้าง : ปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุด (มกษ. 9002-2559) เป็นมาตรฐานที่มีการกำหนดค่า MRLs ในสินค้าเกษตรที่ใช้เป็นอาหารและอาหารสัตว์ เพื่อใช้เป็นเกณฑ์อ้างอิงในการผลิต การค้า และการควบคุมตรวจสอบสินค้าเกษตรที่ผลิต นำเข้า และส่งออก ซึ่งสินค้าเกษตรของไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพ และข้อมูลด้านวิชาการที่ใช้ในการพิจารณากำหนดค่า MRLs ยังไม่ครอบคลุมสินค้าเกษตรทุกชนิด โดยเฉพาะพืชเขตร้อน เช่น Imidaclopid Thiamethoxam ใช้เพื่อกำจัดเพลี้ยแป้งสับปะรด เพลี้ยแป้งสับปะรดสีเทาที่เป็นศัตรูพืชของสับปะรด Carbaryl ใช้เพื่อกำจัดเพลี้ยแป้งส้ม ที่เป็นศัตรูพืชของมังคุด และสารผสม Fluopyram+Trifloxystrobin ใช้เพื่อป้องกันกำจัดโรคผลเนาในลำไยจากเชื้อรา Lasiodiplodia theobromae และโรครำแป้งในมะม่วงที่มีสาเหตุจากเชื้อรา Oidium mangiferea

“ที่ผ่านมา มกอช. ได้ดำเนินการจัดทำมาตรฐานสินค้าเกษตร ตั้งแต่ปี 2546 จนถึงปัจจุบัน มีมาตรฐานที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตรไปแล้ว 356 เรื่อง” เลขาธิการ มกอช. กล่าว