ก้าวย่างปีที่ 119 กรมชลประทานกับความคืบหน้างานพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ของประเทศ

0
7015

กรมชลประทาน ได้กำหนดเป้าหมายก้าวสู่การเป็น “องค์กรอัจฉริยะ” ที่มุ่งสร้างความมั่นคงด้านน้ำเพิ่มคุณค่าการบริการ ภายในปี 2580 โดยเน้นการพัฒนาแหล่งน้ำบริหารจัดการน้ำอย่างสมดุล เป็นธรรม และยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่12 ยุทธศาสตร์กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ควบคู่กับการพัฒนาองค์การอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ 118 ปี ที่ผ่านมา กรมชลประทาน ได้ดำเนินการพัฒนาแหล่งน้ำจำนวน 19,053 แห่ง ได้ปริมาณความจุ 82,657 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่ชลประทาน 33.9 ล้านไร่ โดยโครงการขนาดใหญ่และขนาดกลาง ได้ปริมาณความจุ 78,112 ล้าน ลบ.ม. (94.5%) พื้นที่ชลประทาน 24,958 ล้านไร่ (73.47%)

นายประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีกรมชลประทาน ฝ่ายก่อสร้าง กล่าวว่าโครงการขนาดใหญ่ที่อยู่ระหว่างดำเนินการ และจะดำเนินการแล้วเสร็จปี 2564-2566 อาทิ โครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา จ.เชียงใหม่ โครงการห้วยโสมงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.ปราจีนบุรี โครงการเขื่อนทดน้ำผาจุก จังหวัดอุตรดิตถ์ และโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำรี พร้อมระบบผันน้ำ ระบบส่งน้ำและอาคารประกอบ โดยทั้ง 4 โครงการ จะช่วยพัฒนาแหล่งน้ำต้นทุนและเพิ่มพื้นที่ชลประทาน พร้อมบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร และอุปโภค-บริโภค เมื่อแล้วเสร็จจะสามารถเก็บกักน้ำได้เพิ่มขึ้น 368.7 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่ชลประทานประมาณ 823,200 ไร่

ในอนาคต ประเทศไทยยังจำเป็นต้องมีการพัฒนาแหล่งน้ำอย่างต่อเนื่อง ทั้งการก่อสร้างพัฒนาแหล่งน้ำโครงการชลประทานขนาดใหญ่ ซึ่งกระจายอยู่ทุกภาคของประเทศ ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง จำนวน 19 โครงการ รวมทั้งการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลาง ได้เร่งรัดแผนงานก่อสร้างเดิมที่อยู่ระหว่างดำเนินการ ให้แล้วเสร็จโดยเร็วเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด รวมทั้งแผนงานพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อสนองพระราชดำริของรัชกาลที่ 9 และพระบาทสมเด็จพระ วชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการแก้ไขปัญหาให้ประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ

แต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในปัจจุบัน ได้ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาแหล่งน้ำในหลายด้าน ทั้งนี้ ด้านบุคลากร แรงงาน การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ไม่สามารถมาปฏิบัติงานได้ตามปกติ ด้านการเข้าปฏิบัติงาน จากการประกาศ พ.ร.ก. ฉุกเฉินและประกาศข้อกำหนดของแต่ละพื้นที่ทำให้เป็นอุปสรรคในการดำเนินงาน ส่งผลให้แผนการปฏิบัติงานล่าช้ากว่ากำหนด และด้านวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้าง ส่วนใหญ่มีแหล่งผลิตอยู่ภายนอกจังหวัด จากมาตรการป้องกันโรคปัจจุบันอาจมีความล่าช้าในการขนส่ง การจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้บางอย่างไม่สามารถดำเนินการได้เพราะร้านจำหน่ายไม่เปิดให้บริการประกาศหยุดเนื่องจากขาดแรงงานในภาคส่วนเช่นกันและเป็นการป้องกันการแพร่เชื้อไปพร้อมกัน

“อย่างไรก็ตาม กรมฯ ได้ปรับแผนการปฏิบัติงานภายใต้การระบาดของโรค COVID-19 ให้เหมาะสมกับสถานการณ์เพื่อให้ปฏิบัติภารกิจหลักได้อย่างต่อเนื่อง อาทิ นำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) มาใช้ในการติดต่อประสานงาน ติดตามงานโดยใช้โดรน (Drone) ถ่ายภาพและบันทึก VDO ความก้าวหน้างาน การสนทนาผ่านระบบวิดีโอ (VDO Call) การใช้บริการผ่าน Web Application และ Mobile Application ต่างๆ เพื่อช่วยในการทำงาน การจัดระบบฐานข้อมูลสำรอง (Database) โดยได้เน้นย้ำ ให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามมาตรการเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมของทางราชการ เช่น งดกิจกรรมรวมคนจำนวนมาก งดการเดินทางในพื้นที่เสี่ยง การใช้หน้ากากอนามัย การใช้เจลแอลกอฮอล์ การดูแลความสะอาดที่ทำงาน”นายประพิศ จันทร์มา กล่าวทิ้งท้าย