กรม สบส.แนะเช็คให้ชัวร์ก่อนเข้า รพ./คลินิก ไม่หลงคำโฆษณาเกินจริง ทั้งดีกว่า เหนือกว่า หายทุกโรค เสี่ยงไม่หายและอาจเป็นอันตรายแทน
กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ แนะประชาชนเช็คให้ชัวร์ก่อนรับบริการกับโรงพยาบาลหรือคลินิก อย่าหลงคำโฆษณาเว่อร์วังอลังการ ทั้งดีกว่า เหนือกว่า เห็นผลทันที หรือหายทุกโรค ฯลฯ สุ่มเสี่ยงไม่ได้ผลแถมร่างพัง ชี้หากพบเห็นอย่ารอช้าให้แจ้งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบทันที
นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ด้วยตลาดสุขภาพและความงามของประเทศมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องในทุกๆปี ส่งผลให้อัตราการแข่งขันในด้านธุรกิจของโรงพยาบาลเอกชน และคลินิกเพิ่มสูงขึ้น หลายแห่งจึงอาศัยการโฆษณาเข้ามาช่วยดึงดูดประชาชนให้เข้ารับบริการ โดยเฉพาะการโฆษณาผ่านสื่อโซเชียล อาทิ เว็บไซต์ แอปพลิเคชั่นเฟซบุ๊ค (Facebook) หรือไลน์ (Line) ที่เข้าถึงประชาชนได้อย่างรวดเร็ว จึงอาจมีผู้ไม่หวังดีที่หวังเพียงตักตวงผลกำไร ใช้การโฆษณาที่เป็นเท็จ โอ้อวดเกินจริง อาศัยความไม่รู้ของประชาชน มาหลอกล่อให้เข้ารับบริการ โดยมิได้คำนึงถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดต่อตัวผู้รับบริการ ซึ่งในโลกโซเชียลนั้นมีโฆษณาของสถานพยาบาลเผยแพร่อยู่อย่างมากมาย หลายคนอาจตั้งข้อสงสัยว่าแล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าโฆษณาสถานพยาบาลชิ้นใดที่ถูกต้อง หรือเข้าข่ายโอ้อวดเกินจริง
สำหรับข้อความต้องห้ามใช้ในการโฆษณาสถานพยาบาลนั้นมีอยู่หลากหลายประเภท แต่ข้อความต้องห้ามที่มักพบว่ามีการนำมาใช้ในการโฆษณาอยู่บ่อยครั้งนั้น ได้แก่ เก่งที่สุด/เหนือกว่า/ผู้เชี่ยวชาญ/ระดับโลก/แห่งแรก/คืนความอ่อนเยาว์ได้ในครั้งเดียว/ถึง 99%/เห็นผลทันที/หายทุกโรค/หมอเทวดา ฯลฯ
หากพบว่าโฆษณาของสถานพยาบาลใดมีการใช้ข้อความที่เหมือนหรือมีความหมายใกล้เคียงกับข้อความข้างต้นประชาชนจะต้องพิจารณาให้ดี โดยให้ตั้งข้อสงสัยว่าเป็นโฆษณาหลอกลวง โอ้อวดเกินจริง ไม่ควรรับบริการ เพราะนอกจากจะไม่ได้รับบริการตามที่โฆษณาแล้วยังสุ่มเสี่ยงว่าจะได้รับผลกระทบต่อสุขภาพ และหากอยู่ในเขตกรุงเทพฯ ให้แจ้งเบาะแสมาที่ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนกรม สบส.ทางหมายเลขโทรศัพท์ 02 193 7057 แต่หากอยู่ในส่วนภูมิภาคสามารถแจ้งได้ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ในพื้นที่ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
ด้านทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรม สบส. กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ดี กรม สบส.ขอเน้นย้ำให้ผู้ประกอบกิจการ/ดำเนินการสถานพยาบาลปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด หากผู้ใดจะกระทำการเผยแพร่โฆษณาหรือประกาศเพื่อการค้า จะต้องยื่นเรื่องขออนุมัติการโฆษณากับกรม สบส.หรือ สสจ.เสียก่อน หากพบว่าผู้ใดมีการเผยแพร่โฆษณาหรือประกาศของสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุมัติ จะถือว่ามีความผิดตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 4 พ.ศ.2559 มีโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาทและให้ปรับอีกวันละไม่เกิน 10,000 บาท จนกว่าจะระงับการโฆษณา หรือหากมีการโฆษณาโอ้อวดเกินจริง จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ปรับอีกวันละไม่เกิน 10,000 บาทจนกว่าจะระงับการโฆษณา