กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เตือน เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี หลีกเลี่ยงการใช้สื่อมีจอทุกชนิด อย่างเช่นมือถือ แท็บเล็ต หรือโทรทัศน์ อาจส่งผลให้พัฒนาการล่าช้าในหลาย ๆ ด้าน เน้นพ่อแม่ใช้เวลาร่วมกันในครอบครัวให้มาก ช่วยส่งเสริมพัฒนาการที่ดีของเด็กได้
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ทุกวันนี้หลาย ๆ ครอบครัวมักจะนำเทคโนโลยีเข้ามาเลี้ยงลูกกันมากขึ้น หรือปล่อยให้เด็กอยู่กับสื่อเทคโนโลยี เช่น มือถือ แท็บเล็ต หรือให้ดูทีวีทั้งวัน เพื่อให้เด็กสงบนิ่ง หรือหยุดร้องไห้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ เพราะในเด็กวัยต่ำกว่า 2 ปี ไม่ควรเล่นหรือดูสื่อเหล่านี้เด็ดขาด เพราะมีผลทำให้พัฒนาการล่าช้า และในเด็กแรกเกิดถึง 3 ปี เป็นช่วงวัยที่สำคัญที่สุด ในการเรียนรู้ เนื่องจากสมองของเด็กจะพัฒนาสูงสุด ซึ่งมีสิ่งแวดล้อมโดยรอบจะเป็นตัวกระตุ้นส่งเสริมพัฒนาการทางด้านสมองในช่วงต้น หากปล่อยให้เด็กใกล้ชิดสื่อเหล่านี้มากเกินไปโดยไม่กำหนดเวลาดูหรือเลือกสื่อ ที่ไม่เหมาะสม จะส่งผลเสียหลายด้าน คือ 1) ด้านการสื่อสาร พูดช้า พูดไม่ชัด ขาดความคิดสร้างสรรค์ และ การจ้องมองจอภาพเป็นเวลานานจะส่งผลเสียกับดวงตาได้ เช่น ทำให้สายตาสั้น ดวงตาแห้ง 2) ด้านร่างกาย จะไม่แข็งแรง เหนื่อยง่าย ขาดการเคลื่อนไหวออกกำลังกายตามที่ควรจะเป็นหรืออาจส่งผลให้เป็นเด็กขี้เกียจได้ 3) ด้านอารมณ์ ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ได้ เพราะเด็กแยกแยะโลกของอินเทอร์เน็ตกับความจริงไม่ได้ หงุดหงิดง่าย ใจร้อน รอคอยไม่เป็น เด็กขาดสมาธิไม่จดจ่อหรือตั้งใจทำกิจกรรมใด และ 4) ด้านพฤติกรรม จะก้าวร้าว ซน สมาธิสั้น มีพฤติกรรมคล้ายออทิสติก คือดื้อ ต่อต้าน โลกส่วนตัวสูง สื่อสารกับคนอื่นน้อย
“ทั้งนี้ เวลาในการใช้สื่อเทคโนโลยีที่เหมาะสมควรคำนึงถึงช่วงอายุเป็นหลักคือ เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ให้หลีกเลี่ยงการใช้สื่อมีจอทุกชนิด (ยกเว้นวิดีโอแชท) สำหรับเด็กอายุ 2-5 ปี ให้จำกัดเวลาการใช้สื่อมีจอ ไม่ควรเกินวันละ 1 ชั่วโมง และควรเลือกโปรแกรมหรือแอปพลิเคชันที่มีคุณภาพให้เหมาะสมกับวัยและใช้ไปด้วยพร้อมกันกับเด็ก ซึ่งจะช่วยให้เด็กเข้าใจสิ่งที่เห็นได้มากขึ้น สิ่งสำคัญคือพ่อแม่หรือผู้ปกครองเด็กควรหลีกเลี่ยง การใช้สื่อมีจอเพื่อให้เด็กสงบนิ่ง หรือหยุดร้องไห้ ถึงแม้ว่าจะเป็นการใช้แค่ช่วงเวลาสั้น ๆ ก็ตาม เนื่องจากการใช้ สื่อมีจออาจทำให้เด็กสงบได้จริง แต่นำมาซึ่งปัญหาการไม่สามารถจำกัดเวลาการเล่นได้ และที่สำคัญพ่อแม่หรือผู้ปกครองควรตระหนักถึงคือช่วงพัฒนาการของเด็กตั้งแต่แรกเกิด – 5 ปี ถือเป็นรากฐานของชีวิต พ่อแม่จึงควรหลีกเลี่ยงการเลี้ยงลูกด้วยมือถือ แล้วหันมาใช้เวลาสร้างความสัมพันธ์ร่วมกันในครอบครัว เพราะพัฒนาการที่ดีของเด็ก ๆ เริ่มต้นจากสิ่งเล็ก ๆ ที่ได้เรียนรู้ พาลูกเล่น เรียน ทำกิจกรรมร่วมกัน และไม่ลืมที่จะโอบกอดแสดงความรักระหว่างกันในครอบครัว สิ่งเหล่านี้จะส่งเสริมให้พัฒนาการต่าง ๆ ของเด็กได้ดีกว่าวิธีอื่น” นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าว