กรมวิชาการเกษตร ผนึกกำลังกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดประชุมย่อยศึกษาและสำรวจความคิดเห็นของภาคประชาชนต่อการปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติภายใต้ความรับผิดชอบของกรมวิชาการเกษตร

0
66020

วันที่ 29 ตุลาคม 2567 นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เป็นประธานเปิดงานโครงการ : การศึกษาและสำรวจความคิดเห็นของภาคประชาชนต่อการปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติภายใต้ความรับผิดชอบของกรมวิชาการเกษตร โดยมี นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ ประธานสภาลมหายใจกรุงเทพ และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและการกีฬา และอดีตรองประธานคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา , นางสุรางคณา วายุภาพ กรรมการสภาผู้ทรงคุณวุฒิมศว. มทร. และอดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ,นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ผู้ทรงคุณวุฒิ และอดีตปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ,นายจิรากร โกศัยเสรี ผู้ทรงคุณวุฒิ และอดีตอธิบดีกรมวิชาการเกษตร) ,นายชัยศักดิ์ รินเกลื่อน ผู้อำนวยการสำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร ,นางสาวธิดากุญ แสนอุดม ผู้อำนวยการสำนักคุ้มครองพันธุ์พืช กรมวิชาการเกษตร เข้าร่วมประชุมย่อย ณ ห้องบอลรูม A-B โรงแรมมารวยการ์เด้น พหลโยธิน กรุงเทพมหานคร

นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นหน่วยงานกำกับดูแลกฎหมายถึง 6 ฉบับด้วยกัน เนื่องจากภาคการเกษตรมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการสร้างความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) แต่ความท้าทายที่กำลังเกิดขึ้นและเปลี่ยนแปลงรอบตัวจะกระทบอย่างยิ่งต่อความมั่นคงทางอาหารและต่อพืชเศรษฐกิจของประเทศ กรมวิชาการเกษตรจึงต้องปรับตัวและเตรียมพร้อม อันหมายรวมถึงกฎหมายทั้ง 6 ฉบับภายใต้ความรับผิดชอบ “กฎหมาย” คือ กฎเกณฑ์ กติกาที่มีสภาพบังคับและต้องปฏิบัติตาม ผู้ใดจะอ้างว่า ไม่รู้กฎหมายไม่ได้ เดิมกฎหมายเมื่อตราขึ้นใช้บังคับแล้วไม่ใช่เรื่องง่ายนักในการปรับปรุงแก้ไข รวมทั้งใช้ระยะเวลาหลายปีกว่าจะดำเนินการให้แล้วเสร็จ และมักมีการดำเนินการทีละฉบับ จึงยิ่งใช้ระยะเวลาในการดำเนินการกว่าจะทำได้ครบถ้วนทุกฉบับ

การดำเนินงานเชิงรุกของกรมวิชาการเกษตรที่มององค์รวมของการขับเคลื่อนในเรื่องนี้ ด้วยการศึกษาและสำรวจความคิดเห็นของภาคประชาชนเพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการให้ข้อคิดเห็น หรือสะท้อนข้อห่วงกังวล รวมทั้งข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อการปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติในเวลาไล่เลี่ยกันครบทั้ง 6 ฉบับ โดย 3 พระราชบัญญัติ ซึ่งได้มีการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะในวันนี้ คือ พระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ.2542 พระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ.2507 และพระราชบัญญัติควบคุมยาง พ.ศ.2542 ส่วนอีก 3 พระราชบัญญัติ ได้แก่ พระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ.2518 พระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ. 2518 และพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535 ซึ่งได้มีการดำเนินการเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา


วันนี้ รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการขจัดกฎหมายที่ไม่จำเป็น หรือการกิโยตินกฎหมาย และให้ความสำคัญกับการปรับปรุงและทบทวนกฎหมายให้ทันสมัย ควบคู่กับการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนและผู้ประกอบการ อันเป็นมาตรการสำคัญที่ช่วยยกระดับและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศมาตรการหนึ่ง รวมทั้งต้องทำให้เกิดธรรมาภิบาล ความโปร่งใส และความเป็นธรรมให้กับประชาชน และด้วยภารกิจของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตรถือเป็นกระทรวงหลักที่ต้องทำให้เกิดความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) อันมาจากพืชผลการเกษตร และขณะนี้ ทุกประเทศกำลังเผชิญกับความท้าทายที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง ทั้งจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงและรวดเร็ว (Climate Changes) ตลอดจนวิกฤติการณ์ที่เปรียบเสมือนภัยคุกคามใหม่ๆ ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน (Emerging Threats) ทำนองเดียวกับผลกระทบจาก Covid-19 เมื่อหลายปีที่ผ่านมา รวมทั้งภัยจากสงครามหรือความตึงเครียดในหลายๆ ภูมิภาคจากภูมิรัฐศาสตร์ที่มีการเปลี่ยนแปลงและมีความเสี่ยงว่าจะส่งผลกระทบต่อการเกษตรและต่อระบบเศรษฐกิจในภาพรวม โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อปัจจัยการผลิตทางการเกษตรที่ปรับอาจขาดแคลนหรือมีราคาแพงมากขึ้น เช่น ปุ๋ย และสารเคมีที่จำเป็น อีกทั้งยังคาดหมายได้ต่อไปว่า วิกฤติที่เกิดขึ้นนั้น อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ เราทุกคน จึงต้องปรับตัวในทุกๆ ด้านที่จำเป็น รวมทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางกฎหมายของประเทศให้พร้อม บนพื้นฐานของข้อมูลและหลักการทางวิทยาศาสตร์ ที่เรียกว่า Science-Based และหลักการบริหารจัดการความเสี่ยง หรือ Risk-Based เพื่อให้พร้อมรับมือกับ Climate Changes และวิกฤติใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นและส่งผลกระทบต่อการเกษตรทั้งระบบ และต่อความมั่นคงทางอาหารของประเทศด้วยในที่สุด

ที่ผ่านมานั้น เรามักตรากฎหมายเพื่อกำกับควบคุมแบบเคร่งครัด ก็อาจจำเป็นต้องปรับไปทิศทางที่เป็นการกำกับดูแลเชิงส่งเสริมมากกว่าเชิงลงโทษ รวมทั้งจำเป็นต้องปรับปรุงกฎหมายให้ทันสมัยและสอดคล้องตามพันธกรณีระหว่างประเทศโดยต้องตระหนักและลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับเกษตรกรเป็นสำคัญ การเพิ่มมาตรการเชิงนวัตกรรมและรองรับเทคโนโลยีใหม่ๆ ไว้ในกฎหมาย เช่น การปรับแต่งพันธ์พืชให้ดีขึ้น (Gene Editing) หรือการรองรับมาตรการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลหรือปัญญาประดิษฐ์พร้อมทั้งคำนึงถึงมาตรการป้องกันการบิดเบือนข้อมูล เพื่อความปลอดภัยและยกระดับเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในภาคการเกษตร ก็อาจเป็นสิ่งที่ต้องคำนึง อายุการคุ้มครองที่สั้นเกินไปก็ควรขยายเวลาการคุ้มครองออกไปให้เหมาะสมมากขึ้น หรือโครงสร้างกรรมการซึ่งกำหนดให้เป็นกรรมการโดยตำแหน่งที่มาจากหน่วยงานหรือผู้ทรงคุณวุฒิในภาคการเกษตรเป็นส่วนใหญ่ ก็มีความจำเป็นต้องเพิ่มหน่วยงานหรือผู้ทรงคุณวุฒิจากสายงานด้านเศรษฐกิจ หรือด้านเศรษฐศาสตร์ นวัตกรรม หรือ Climate Changes เข้าไปในองค์ประกอบของคณะกรรมการเพื่อเพิ่มมุมมองในมิติต่างๆ ให้รอบด้านมากขึ้น รวมทั้งการกำหนดมาตรการปรับเป็นพินัยใส่ไว้ในกฎหมายเอาไว้ให้ชัดเจน เป็นต้น
นางสุรางคณา วายุภาพ กรรมการสภาผู้ทรงคุณวุฒิมศว. มทร. และอดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ กล่าวว่า การปรับปรุงกฎหมายของกรมวิชาการเกษตรครั้งนี้ จึงมีแนวทางในการพัฒนาและปรับปรุงกฎหมายที่ออกจากกรอบแนวคิดเดิมๆ เพื่อให้กฎหมายเกี่ยวกับการเกษตรของประเทศสามารถพัฒนาก้าวทันการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นอันจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อภาคการเกษตรของไทย


อย่างไรก็ตาม ในการรับฟังความเห็นและการประชุม Focus Group ครั้งนี้ เป็นระยะแรกเพื่อนำข้อมูลไปใช้ประกอบการยกร่างกฎหมาย รวมทั้งการดำเนินการใดๆ เพื่อประเมินผลกระทบของร่างกฎหมาย และจำเป็นต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในระยะถัดไป รวมทั้งเป็นขั้นตอนสำคัญก่อนประเทศไทยจะเป็นภาคีอนุสัญญาฉบับที่สำคัญๆ เช่น อนุสัญญาการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (International Convention for the Protection of New Varieties of Plants) UPOV 1991 เป็นต้น โดยวางแผนว่า การปรับแก้กฎหมายควรจะเร่งรัดและดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี เพื่อให้มีผลใช้บังคับต่อไป