กรมชลฯ เตรียมชูปฏิบัติการ Water Hammer Operation เป็นโมเดลกระแทกลิ่มความเค็มกลับทะเล ป้องระบบน้ำจืดเจ้าพระยาตอนล่าง

0
7346

ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมจะนำปฏิบัติการ Water HammerOperation หรือปฏิบัติการค้อนกระแทกน้ำ ซึ่งเป็นโมเดลในการไล่ลิ่มความเค็มน้ำทะเลที่รุกเข้าแม่น้ำเจ้าพระยาที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพน้ำดิบสำหรับการผลิตน้ำประปาที่สถานีสูบน้ำสำแล จังหวัดปทุมธานี   เป็นแนวทางในการไล่ความเค็มของกรม  ซึ่งเป็นผลมาจากความร่วมมือกันระหว่างกรมชลประทานกับการประปานครหลวง(กปน.)ซึ่งต่อมาคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้เล็งเห็นความสำคัญจึงได้ทำการวิจัยเรื่อง“การศึกษาเบื้องต้นเกี่ยวกับแนวทางการบริหารจัดการน้ำในฤดูแล้ง:กรณีศึกษาการบริหารจัดการความเค็มรุกล้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาฤดูแล้ง ปี 2562/63”เพื่อเป็นการทบทวน ต่อยอด และสนับสนุนว่าการปฏิบัติการ Water Hammer Operation นี้สามารถไล่ลิ่มความเค็มได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถคุมคุณภาพน้ำดิบให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานเพื่อการผลิตน้ำประปา  โดยในการประชุมสัมมนาวิชาการ THAICID National e-Symposium ครั้งที่ 13 ในวันที่ 31 กรกฎาคม 2563  ที่กรมชลประทานเป็นเจ้าภาพจัดจะมีการนำเสนอผลการศึกษาเรื่องนี้ด้วย

“ ในปี 2562 น้ำต้นทุนใน 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยามีปริมาณน้อย ส่งผลให้มีน้ำใช้การที่นำไปวางแผ4นบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้ง ปี 2562/63 ณ วันที่ 1พฤศจิกายน 2562 ได้เพียง 5,377 ล้านลูกบาศก์เมตร กรมชลประทานจึงต้องบริหารอย่างเข้มงวดประกอบกับช่วงปลายเดือนธันวาคม 2562 น้ำทะเลหนุนสูงค่าความเค็มที่สถานีสูบน้ำสำแลขึ้นสูงเกินเกณฑ์มาตรฐานการผลิตประปา ที่ 2.19 กรัม/ลิตรกรมชลประทานและ กปน.จึงนำปฏิบัติการนี้มาทดลองใช้ร่วมกับมาตรการเสริมอื่นๆอาทิการผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองผ่านคลองพระยาบันลือและคลองพระพิมลมายังแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อเพิ่มน้ำจืด การควบคุมการเปิดปิดบานระบายของประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสมุทรปราการ ตามจังหวะการขึ้นลงของน้ำทะเล วันละ 6-9ชั่วโมงเพื่อเร่งระบายน้ำเค็มให้ออกสู่ทะเลให้เร็วที่สุด เป็นต้นโดยกปน. จะลดหรือหยุดการสูบน้ำเป็นเวลา 2ชั่วโมงในช่วงน้ำเริ่มไหลลงเพื่อให้น้ำจืดที่ระบายมาจากตอนบนมีปริมาณที่มากพอจนสามารถผลักดันลิ่มความเค็มลงไปได้ อย่างได้ผล ”ดร.ทองเปลว กล่าว

นายชัยวัฒน์ ปรีชาวิทย์ ที่ปรึกษากรมชลประทาน ในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิคณะกรรมการด้านการชลประทานและการระบายน้ำแห่งประเทศไทย(THAICID) กล่าวว่าการประชุมวิชาการ THAICID National e-Symposium ครั้งที่ 13 ที่จัดขึ้นในรูปแบบออนไลน์ครั้งแรก พร้อมวาระครบรอบ 70 ปี ผู้สนใจสามารถเข้าไปติดตามได้ผ่านเว็บไซต์ thaicid.go.th/2020  ซึ่งในปีนี้จัดภายใต้หัวข้อ 70 ปีแห่งความมุ่งมั่นของคณะกรรมาธิการระหว่างประเทศว่าด้วยการชลประทานและการระบายน้ำ(International Commission on Irrigation and Drainage:ICID) และคณะกรรมการด้านการชลประทานและการระบายน้ำแห่งประเทศไทย (Thai NationalCommittee on Irrigation and Drainage: THAICID)ซึ่งประเทศไทยเป็นองค์กรเครือข่ายสนับสนุนภารกิจ มิติที่ 6ที่เน้นการจัดการน้ำชลประทานและการระบายน้ำที่ยั่งยืนเน้นในเรื่องของนวัตกรรมและเทคโนโลยีสรรสร้างการจัดการน้ำชลประทานให้คุ้มค่าและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แนวการดำเนินการเน้นรูปแบบปฏิสัมพันธ์ สหวิทยาการและการบูรณาการมีส่วนร่วมด้านชลประทานและการระบายน้ำ

ทั้งนี้บทวิจัยของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็น 1 ใน8 บทความจากที่เสนอมาจากหลายหน่วยงาน 22 บทความเพื่อนำเสนอต่อการประชุม  คือเรื่องการศึกษาเบื้องต้นเกี่ยวกับแนวทางการบริหารจัดการน้ำในฤดูแล้ง: กรณีศึกษาการบริหารจัดการความเค็มรุกล้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาฤดูแล้งปี2562/63 ที่ศึกษากรณีฤดูแล้งการระบายน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยาที่สถานีบางไทร C29A  จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีอัตราการไหลเฉลี่ย 60 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีลิ่มความเค็มจากอ่าวไทยรุกด้วยอิทธิพลน้ำทะเลหนุนสูง ทำให้ค่าความเค็มที่สถานีสูบน้ำสำแลของการประปานครหลวง มีค่าความเค็มสูงสุดที่ 2.19 กรัมต่อลิตร เป็นบางชั่วโมง (เมื่อวันที่ 28ธันวาคม 2562) เกินค่ามาตรฐานการผลิตน้ำประปาที่ค่าความเค็มไม่เกิน 0.50 กรัม /ลิตร

ทั้งนี้ได้ศึกษาการปฏิบัติการไล่น้ำเค็ม  การศึกษาใช้ข้อมูลสถิติน้ำฝน สถิติปริมาณน้ำไหลผ่านสถานีบางไทรและสถิติค่าความเค็มจากสถานีตรวจวัดของการประปานครหลวง และเปรียบเทียบปีน้ำน้อย คือปี2558 และปี 2562 ซึ่งปี 2558  ค่าความเค็มที่ 1.09 กรัม/ลิตรน้อยกว่าปี 2562 ที่ความเค็มสูงถึง2.19 กรัม/ลิตร ทำให้ทราบถึงปัจจัยอื่นที่ทำให้ลิ่มความเค็มเพิ่มโดยพบว่าเกิดจากความต้องการปริมาณน้ำดิบเพื่อใช้ผลิตน้ำประปาที่เพิ่มขึ้นและปริมาณน้ำต้นทุนที่มีน้อย“การปฏิบัติ Water Hammer Operation โดยลดอัตราการสูบน้ำดิบที่สถานีสำแล 2ชั่วโมง ในช่วงน้ำลง เพื่อให้มีมวลน้ำจืดมากระแทกน้ำเค็มลงไปให้เต็มที่ ดังนั้นจะเห็นว่ากรณีแล้งและน้ำในเขื่อนมีปริมาณน้อยเพื่อลดผลกระทบจากความเค็มรุกสู่แม่น้ำเจ้าพระยาและอาจกระทบการผลิตน้ำประปาการใช้แผนปฏิบัติการ Water Hammer Operationสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการน้ำร่วมกับมาตรการอื่นๆ ได้” ผลวิจัยระบุ