วันนี้ (29 กันยายน 2563) นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วย นายพิเชษฐ์ ศุภฤกษ์ ผู้อำนวยการสำนักออกแบบวิศวกรรมและสถาปัตยกรรม บริษัทที่ปรึกษา และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นศึกษาดูงานโครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำจากบึงหนองบอนลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา โดยมี นายสัญญลักษณ์ ก้องกิจการ ผู้อำนวยการส่วนวิศวกรรมระบบระบายน้ำ สำนักงานพัฒนาระบบระบายน้ำ สำนักการระบายน้ำ กทม. เป็นผู้บรรยายการดำเนินโครงการฯ ในด้านต่างๆ ณ โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำจากบึงหนองบอนลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาของสำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร
ในการนี้รองอธิบดีกรมชลประทาน และบริษัทที่ปรึกษาได้เข้าศึกษาดูงานการขุดเจาะอุโมงค์ในชั้นดินอ่อน โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำจากบึงหนองบอนลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อเป็นกรณีศึกษาในการดำเนินการ แนวทาง และเทคโนโลยีในการก่อสร้างมาประยุกต์ใช้ในการสำรวจ ออกแบบ โดยโครงการอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางน้ำจืดเป็นส่วนหนึ่งของโครงการปรับปรุงโครงข่ายระบบชลประทานในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์ในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างจำนวน 9 จังหวัด ทั้งนี้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการส่งน้ำและการระบายน้ำให้กับพื้นที่ทั้งในช่วงฤดูน้ำหลากและฤดูแล้ง และสามารถเพิ่มศักยภาพในการเก็บกักน้ำและระบายน้ำของพื้นที่แก้มลิงคลองมหาชัย-คลองสนามชัย ซึ่งเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่มีวัตถุประสงค์ในการช่วยระบายน้ำท่วมขังจากพื้นที่ตอนบนทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ให้ออกสู่ทะเลโดยเร็วที่สุด โดยมี “แก้มลิง” ทำหน้าที่รวบรวม รับ และดึงน้ำท่วมขังจากพื้นที่ตอนบนลงมาเก็บไว้ในคลองมหาชัย-คลองสนามชัย และแม่น้ำท่าจีน เพื่อระบายออกสู่ทะเลด้านจังหวัดสมุทรสาคร
“สำหรับแผนการดำเนินงานโครงการอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางน้ำจืด จังหวัดสมุทรสาคร นั้น กรมชลประทานได้เริ่มมาตั้งแต่มีโครงการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อม บริหารจัดการน้ำในพื้นที่แม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก (2557-2560) เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมและเพิ่มศักยภาพในการระบายน้ำ ถัดมากรมชลประทานได้มอบให้กิจการร่วมการค้า PWFS JV เป็นผู้ดำเนินการงานสำรวจออกแบบอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองน้ำจืด มีกำหนดระยะเวลา 540 วัน (2563-2564) นับเป็นส่วนสำคัญของแผนงานที่ 4 โครงการปรับปรุงโครงข่ายระบบชลประทานฝั่งตะวันตก จาก 9 แผนบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง หลังจากนั้นจะนำเสนอโครงการฯ ต่อคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เสนอเปิดโครงการต่อคณะรัฐมนตรี จัดเตรียมเอกสารประมูลและเตรียมการก่อสร้าง และดำเนินการก่อสร้างจนจบโครงการ” รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าว